กลับหน้าแรก | กระดานข่าวสีเขียว - สีคราม
ค้นหาคำถาม
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: :: ทริปเดินทาง ::: พาใจไปเที่ยว :: :: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
เชิญตั้งคำถามของคุณได้ที่นี่ครับ
เปิดเคล็ดลับชาวมอแกนช่วยพ้นมหันตภัย "สึนามิ"
วิถีชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่กินกับน้ำ บวกกับคำบอกเล่าจากมอแกนรุ่นปู่ย่าสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้ตระหนักว่า "น้ำลดเร็วก็จะมาเร็ว ลดมากก็มามาก" จนทุกคนจดจำฝังใจ ณ วันนี้มันได้ช่วยให้ชาวมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ รอดพ้นจากภัยพิบัตินั้นมาได้อย่างหวุดหวิด

ท่ามกลางการระดมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามสถานที่ต่างๆ จากคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ยังมีชาวเลกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รอคอยความหวัง และเฝ้าคิดถึงอนาคต ไม่แตกต่างไปจากคนไทยกลุ่มอื่นๆ โดยภายในวัดสามัคคีธรรม หรือวัดป่าส้าน อ.คุระบุรี จ.พังงา ถูกใช้เป็นที่พักชั่วคราวของชาวมอแกนเกือบ 200 ชีวิต ที่หนีตายมาจากอ่าวบอนเล็ก และอ่าวไทรเอน เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2547

"คม ชัด ลึก" มีโอกาสได้พบกับเฒ่าซาราเมา กล้าทะเล วัย 65 ปี ผู้ใหญ่บ้านมอแกน นั่งเล่าเรื่องชาวน้ำที่เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่บนท้องน้ำทะเลอันดามันบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์มานานหลายชั่วอายุคน ก่อนจะวกเข้าสู่สาระสำคัญที่ทำให้ชนเผ่ามอแกนรอดพ้นจากวิกฤติภัยธรรมชาติครั้งใหญ่มาได้อย่างหวุดหวิด

"ผู้เฒ่า ผู้แก่ เคยบอกว่า น้ำลดเร็วก็จะมาเร็ว น้ำลดมากก็จะมามาก ชาวมอแกนทุกคนจะจำกันขึ้นใจ ทุกครั้งก่อนออกเดินทางเร่ร่อน ก็จะต้องตรวจดูน้ำทะเลก่อน" เฒ่าซาราเมา รำลึกถึงคำสอนของบรรพชนผ่านออกมาเป็นถ้อยคำที่ฟังดูแปร่งๆ
โดยคุณ คมชัดลึก [2005-01-04 12:46:37] Bookmark and Share

โดยคุณ คมชัดลึก [2005-01-04 12:47:15] #642 (1/12)
ถึงแม้ความวิปโยคที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ จะดูรุนแรงทว่าเฒ่าทะเลซาราเมา มองว่า เป็นเหมือนเรื่องธรรมดา เพราะบางครั้งคลื่นใหญ่ที่ถาโถมใส่พวกเขากลางทะเลเปลี่ยวยังผ่านพ้นมาได้ นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะธรรมชาติต้องการสมดุลกลับคืนมา เนื่องจากทุกวันนี้คนใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างสิ้นเปลือง ในหมู่บ้านของพวกเขามีคนเดินทางเข้ามามากหน้าหลายตา เพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองที่ไม่ค่อยได้พบเจอธรรมชาติและชีวิตเรียบง่าย บางรายเข้ามาใช้ชีวิตอยู่กินกับชาวบ้านเป็นเดือนๆ ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องทะเลมากนัก เพียงแค่อยากมาพักผ่อนกินเหล้าเมาหลับนอนตามชายหาดเท่านั้น

"พวกเราปลูกกระท่อมอยู่กันง่ายๆ ไม่เหมือนตึกใหญ่ๆ ตามชายฝั่ง เราอยู่ง่าย กินง่าย ไม่เบียดเบียนใคร ทะเลจริงใจให้อาหารและเลี้ยงดูเราตลอดชีวิต วันนั้นทุกคนรู้ว่าจะต้องขึ้นไปบนภูเขา หรือไม่ก็อยู่ในน้ำ ถ้าอากาศดีทะเลจะใจดีที่สุด ถ้าฟ้ามืดครึ้ม ลมแรง ต้องอยู่บนบกจึงปลอดภัย" เฒ่าทะเล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน ผู้ใหญ่บ้านมอแกนผู้นี้ได้ฝันเห็น "ลมเหลือง" พัดพาหมู่บ้านมอแกนพังราบเป็นหน้ากลอง เพื่อล้างสิ่งไม่ดีออกจากหมู่เกาะให้หมด พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ตกใจ คิดว่าเป็นเรื่องจริง จึงนำความฝันมาเล่าให้ลูกเมียฟัง โดยลูกชายก็บอกว่าฝันเหมือนกัน เลยบอกให้ทุกคนระวังตัวไว้ อาจจะเกิดเหตุร้ายได้ จะเป็นเพราะความประจวบเหมาะหรืออะไรก็ตาม แต่อีก 2 วันถัดมา ก็เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งหมู่บ้านมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ด้วย
โดยคุณ คมชัดลึก [2005-01-04 12:48:20] #643 (2/12)
ถึงแม้จะปลอดภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ แต่วันนี้ ชาวมอแกนหลายคนยังไม่ทราบชะตากรรมว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร โดยนายเน้น กล้าทะเล ชาวมอแกน ยอมรับว่า รู้สึกสับสนว่าจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่รู้มาก่อนล่วงหน้า พอเห็นน้ำทะเลลดผิดสังเกตจึงช่วยกันอพยพหนีตาย ไม่นานคลื่นก็ซัดขึ้นมาท่วมบ้าน พัดเอาบ้านกลับลงไปในทะเลหายวับไปกับตา ต้องช่วยกันอุ้มเด็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ขึ้นไปบนเขาหนีตายกันจ้าละหวั่น บางรายล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็เอาชีวิตรอดมาได้ อย่างไรก็ตาม ดีใจที่ประชาชนคนไทยไม่ทอดทิ้งชาวมอแกน ทุกคนช่วยเหลือดีมาก

ความสับสนที่เกิดขึ้น สะท้อนออกมาเป็นความหวาดกลัว เพราะหลังจากอพยพมาอยู่ที่วัดสามัคคีธรรมแล้ว ณ วันนี้ชาวมอแกนยังปฏิเสธที่จะลงมายังถิ่นฐานอันเป็นที่อยู่เดิม ไม่แม้แต่จะลงมาเล่นที่ชายหาดอันเป็นวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เพียงเพราะเหตุผลเดียวคือ กลัวจะได้รับอันตรายจากคลื่นทะเล แม้ว่าจะได้รับคำยืนยันถึงความปลอดภัยแล้วก็ตาม ดังนั้น ขณะนี้จึงมีกระแสข่าวว่า ชาวมอแกนอาจจะขอย้ายถิ่นอาศัยไปอยู่เกาะอื่นที่ใกล้ฝั่งมากกว่าหมู่เกาะสุรินทร์

"หนูจำเหตุการณ์ได้ดี ยังตกใจอยู่เลย ต่อไปนี้จะไม่ไปเล่นชายหาดอีก กลัวเหตุการณ์จะซ้ำรอย วันนี้อาศัยอยู่ที่วัดรู้สึกอุ่นใจ เพราะได้อยู่บนบก" ผักปลี เด็กหญิงมอแกน กล่าวถึงความหวาดกลัว อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า จะกลับไปอยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์อีกหรือไม่ เด็กหญิงหน้าตาใสซื่อบอกเพียงว่า "ที่นั่นเป็นบ้านเกิด หากมีโอกาสก็อยากจะกลับไป ถึงแม้จะอันตรายก็ตาม"
โดยคุณ คมชัดลึก [2005-01-04 12:53:28] #644 (3/12)

นักวิชาการกระทรวงวิทย์พบเบาะแส ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-ลงผิดปกติ อาจนำไปเป็นข้อมูลการเตือนภัยมหันตภัย" สึนามิ" ระบุชัดคลื่นยักษ์ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ไทย มาจากแผ่นดินไหว "อาฟเตอร์ช็อก" ในทะเลอันดามัน ไม่ใช่แผ่นดินไหวใหญ่ในอินโดนีเซีย
โดยคุณ คมชัดลึก [2005-01-04 12:56:13] #645 (4/12)

ข้อมูลที่บันทึกในกราฟเป็นข้อมูลระดับน้ำเฉลี่ย ซึ่งเครื่องวัดเป็นเครื่องมือที่สามารถ "กรอง" ทิ้งความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่เกิดจากคลื่นปกติ ซึ่งมักจะมีระยะเวลาจากยอดบนถึงท้องคลื่นประมาณ 10-30 วินาที ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ของการวัด คือการดูระดับของน้ำทะเลที่เกิดจากน้ำขึ้นน้ำลง (tides) ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ในวันหนึ่งๆ จะมีน้ำขึ้นสองครั้ง น้ำลงสองครั้ง ตามอิทธิพลของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

ดังนั้น การสำรวจการชึ้นลงของคลื่นน้ำ (Tidal Wave) ตามปกติ จะจดการอ่านค่าระดับน้ำทะเลเพียงชั่วโมงละครั้งก็เพียงพอแล้ว (ดูเส้นประ ซึ่งแสดงค่าทำนายของระดับน้ำตามปกติ)

อย่างไรก็ดี เครื่องวัดของกองสมุทรศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้วัดข้อมูลเอาไว้อย่างต่อเนื่องราวๆ นาทีละ 1 ค่า ทำให้เราได้เห็นภาพค่อนข้องชัดเจน ว่าระดับน้ำเป็นอย่างไรในวันนั้น เครื่องวัดดังกล่าว เป็นเครื่องวัดที่กรองเอาค่าระดับน้ำที่แกว่งมากเนื่องจากคลื่นลมในทะเลออกไปแล้ว กราฟที่เห็นจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับน้ำขึ้นน้ำลงตามปกติ

สิ่งที่เห็นได้ชัด คือเมื่อเวลา 10.16 น. มีน้ำลงที่ไม่ปกติ เพราะอยู่ดีๆ ระดับน้ำทะเลลดลงไปกว่า 1 เมตร ภายในเวลาไม่ถึง10 นาที ชายฝั่งที่มีความลาดระดับ 1:100 คงจะพบว่าน้ำลดลงไปเป็นระยะทางยาว 100 เมตร บนชายหาด ราวกับว่ามีปั๊มน้ำขนาดยักษ์ดูดน้ำออกไปจากทะเล ชนิดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเวลาสั้นขนาดนั้น

แต่แล้ว ในเวลาประมาณ 17 นาทีต่อมา ระดับน้ำทะเลก็สูงขึ้นมาเป็น +1.1 เมตร จากระดับน้ำทะเลปกติ และที่มาคู่กับระดับน้ำที่มีความสูงขนาดนี้ ก็คือคลื่นยักษ์ซึ่งซัดเข้าฝั่งแทบทุกนาที

มีผู้รายงานว่า คลื่นบางลูกสูงประมาณ 5 เมตร ซึ่งสามารถดันวัตถุ สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะขึ้นฝั่งไปไกล และกระแสน้ำที่พัดเข้ามา ทำให้ทุกอย่างที่ผ่านหน้า หลุดลอยไปกับกระแสน้ำราวกับว่าเป็นของเล็กๆ

การขึ้นลงของระดับน้ำเฉลี่ยที่วัดค่าได้นี้ ยังมีการแกว่งตัวต่อไปอีกหลายครั้ง โดยมีระยะเวลาที่แตกต่างกันตามรูป และเป็นภาพที่สลับซับซ้อน เพราะบางส่วนน่าจะเกิดจากแผ่นดินไหวครั้งต่อๆ มา (after shock)

อย่างไรก็ตาม หากคลื่นสึนามิกำลังจะเข้ากระทบฝั่ง ใช่ว่าจะมีการ "เตือน" โดยมีการลดระดับน้ำอย่างเร็วแบบนี้เสมอไป มันยังมีได้หลายแบบ ซึ่งคงไม่มีโอกาสศึกษาได้ในช่วงอายุขัยของเรา วิธีที่ดีกว่า คือการศึกษาจากประวัติศาสตร์ และจากบรรพบุรุษที่บันทึกและทำข้อสังเกตเอาไว้ กับศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งชอบคิดและสร้างรูปแบบจำลองทางธรรมชาติ เพื่ออธิบาย และสร้างเหตุการณ์คล้ายจริงในห้องทดลอง เพื่อมาช่วยให้เราสามารถเตรียมการเรื่องระบบเตือนภัย
โดยคุณ ช.ช้าง [2005-01-11 13:14:10] #646 (5/12)
อย่าไรก็อย่าลืมชาวมอแกนของจังหวัดระนองด้วยนะครับ พวกเขาโดนเหมาว่าเป็นชาวพม่าไปแล้ว ขึ่นฝั่งก็ไม่ได้จะโดนจับ
โดยคุณ ฅนหลังเขา [2005-01-18 17:29:23] #647 (6/12)
ขอบคุณความรู้ที่เอามาฝากครับ
โดยคุณ BlackCap [2005-01-20 21:43:18] #653 (7/12)

ภาพข้อมูลดาวเทียม บริเวณเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่าก่อนและหลังการเกิด Tsunamis
โดยคุณ BlackCap [2005-01-20 22:14:21] #654 (8/12)

ภาพถ่ายบริเวณ เกาะพีพี ก่อนและหลังการเกิดTsunamis
โดยคุณ BlackCap [2005-01-20 22:16:54] #655 (9/12)

ภาพถ่ายบริเวณ เกาะพีพี แสดงความเสียหายจากการเกิดTsunamis
โดยคุณ ลูกศิษย์ครูnavy93 [2005-03-01 18:07:38] #702 (10/12)
อยากอ่านข้อมูลลักษณะนี้เพิ่มเติม จะหาอ่านได้ที่ไหนค่ะ , มีโอกาสหามาให้อ่านและศึกษาอีกนะคะ
โดยคุณ คนที่หวังดี Mail to คนที่หวังดี [2005-04-03 00:58:40] #761 (11/12)

เกาะก็สวยดีนะค่ะ แต่ทำไมถึงเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้ก็ไม่รู้
โดยคุณ กิ๊ฟจาง Mail to กิ๊ฟจาง [2005-06-30 07:06:10] #1682 (12/12)
ขอส่งจัยไปช่วยชาวใต้เจ้าค่ะ