กลับหน้าแรก | กระดานข่าวสีเขียว - สีคราม
ค้นหาคำถาม
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: :: ทริปเดินทาง ::: พาใจไปเที่ยว :: :: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
เชิญตั้งคำถามของคุณได้ที่นี่ครับ
ประเพณีบุญบั้งไฟ


                                   ประเพณีบุญบั้งไฟ


      บุญบั้งไฟ หนึ่งในฮีตสิบสอง หรือประเพณีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาตามความเชื่อของชาวอีสาน บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) เป็นการบูชาพญาแถนและเป็นประเพณีทำบุญขอฝน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เชื่อกันว่าหากปีใดงดงานบุญบั้งไฟจะทำให้ท้องถิ่นของตนเกิดเภทภัยต่างๆ เช่น ฝนแล้ง หากทำบุญดังกล่าวแล้วก็เชื่อว่าฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

     การทำบุญบั้งไฟเริ่มตั้งแต่มีใบฏีกาบอกบุญไปยังบ้านหรือคุ้มวัดต่าง ๆ ในท้องถิ่น แต่ละคุ้มวัดจะช่วยกันทำบั้งไฟซึ่งต้องใช้ดินปืนเป็นส่วนผสมสำคัญเพื่อเป็นแรงส่งให้บั้งไฟขึ้นไปสู่ท้องฟ้าได้ จากนั้นก็มีการตกแต่งบั้งไฟ พอได้เวลาก็ช่วยกันแห่แหนบั้งไฟไปที่วัด ในขบวนมีการเซิ้งและการฟ้อนพื้นบ้านเป็นที่สนุกสนานครึกครื้น ในงานมักจะมีการบวชนาคพร้อมกันไปด้วย ก่อนบวชมีการฟังพระสวดและถวายภัตตาหารเพล จากนั้นจึงมีการจุดบั้งไฟโดยจุดกันที่ทุ่งนาใกล้วัด ถ้าบั้งไฟขึ้นสูงเชื่อกันว่าฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลดี บางแห่งถ้ามีบั้งไฟมากก็จะมีการแข่งขันจุดบั้งไฟอย่างสนุกสนาน ผู้ใดแพ้จะถูกโยนลงโคลน เวลากลางคืนนอกจากจะมีมหรสพพื้นบ้านทั่วไปแล้ว ยังนิยมการแข่งขันตีกลองเอาเสียงดังแข่งขันกัน เรียกว่า "กลองเส็ง"


     งานบุญบั้งไฟนี้หลายท้องถิ่นในภาคอีสานยังคงถือเป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญมาก พอใกล้วันงานชาวอีสานไม่ว่าไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็จะกลับบ้าน เพื่อไปร่วมงานบุญบั้งไฟอันเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว ในวันเพ็ญเดือนหก ชาวอีสานยังนิยมทำ "บุญวันวิสาขบูชา" ได้แก่ การตักบาตร ฟังเทศน์ในตอนเช้า และเวียนเทียนที่วัดหรือปูชนียสถานที่สำคัญของท้องถิ่นในตอนค่ำและในบางแห่งยังคงมีการสรงน้ำพระพุทธรูปซึ่งเป็นการสรงต่อเนี่องมาจากพิธีตรุษสงกรานต์




                                   ตำนานบั้งไฟ

      พญาแถนเป็นเทพยดาที่มีหน้าที่เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกในเมืองมนุษย์ ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก (พญาคังคาก) อาศัยอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้งพญาแถนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกถึง 7 ปี 7 เดือน ชาวโลกเกิดความยากแค้น ทั้งคน สัตว์ และพืชล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงรอดตายได้มา รวมกันอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคังคากแล้วสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ประชุมตกลงกันว่า ต้องทำศึกกับพญาแถนให้แตกหัก จึงให้พญานาคียกทัพไปรบก่อน แต่ต้องพ่ายแพ้กลับมาพร้อมทั้งรอยฟันเป็นลายไปทั่วตัว ต่อจากนั้นพญาต่อแตนก็ยกทัพไปรบอีก ก็ถูกพญาแถนฟันจนเป็นลายตามตัวกลับมาอีก จนในที่สุดพญาคังคากก็เสนอตัวยกทัพไปรบกับพญาแถน โดยวางแผนให้ปลวกก่อจอมปลวกเป็นถนนขึ้นไปยังเมืองแถน ให้มอดไปเจาะด้ามอาวุธจนใช้การไม่ได้ ให้แมงป่อง ตะขาบ ไปซ่อนอยู่ตามกองฟืนที่จะใช้หุงต้มและตามเสื้อผ้า แล้วกัดไพร่พลพญาแถนเจ็บปวดร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนถูกจับตัวได้แล้วขอทำสัญญาสงบศึกโดยมีข้อตกลงว่า

                 ถ้าเห็นสัญญาณการจุดบั้งไฟเมื่อไหร่ พญาแถนต้องสั่งให้ฝนตกลงมาในโลกมนุษย์
     v      ถ้าได้ยินเสียงกบเขียดร้อง ก็จะทราบได้ว่าฝนตกแล้ว
                 ถ้าได้ยินเสียงสนูหวายของว่าว (แอกว่าว) หรือเสียงโหวด จึงสั่งให้ฝนหยุดตก



     ชาวอีสานทั่วไปที่ยังมีคตินิยมเชื่อว่า บุญบั้งไฟเป็นงานบุญเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อถึงเดือนหกชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ท้องถิ่นใด จะเดินทางกลับบ้านเพื่อร่วมงานบุญนี้กันอย่างพร้อมเพรียง จังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดหลักที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องมาทุกปี มีการแห่แหนขบวนบั้งไฟและจุดบั้งไฟแข่งขันกันจนถือเป็นงานประเพณีระดับชาติ



                                   เที่ยวงานบุญบั้งไฟ


     ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
วันที่ 9 - 13 พฤษภาคม 2550
ณ สวนสาธารณพญาแถน และในเขตเทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

     งานประเพณีบุญบั้งไฟกระนวน
วันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2550
ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น

     ประเพณีบุญบั้งไฟ อำเภอยางสีสุราช
วันที่ 25 พฤษภาคม 2550
ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอยางสีสุราช อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม

     ประเพณีบุญบั้งไฟและงานนมัสการหลวงปู่พระครูปทุมวโรภาส
วันที่ 1 - 3 มิถุนายน 2550
จังหวัดร้อยเอ็ด

     งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดร้อยเอ็ด
วันที่ 2 - 3 มิถุนายน 2550
บริเวณถนนประสานเมืองและหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด


     ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดมหาสารคาม
วันที่ 8 - 10 มิถุนายน 2550
ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

     งานประเพณี บุญบั้งไฟ ของชาวอิสาน # 1
http://www.tripandtrek.com/webboard2/show.php?Category=&No=46>
     งานประเพณี บุญบั้งไฟ ของชาวอิสาน # 2
http://www.tripandtrek.com/webboard2/show.php?Category=&No=47>
     งานประเพณี บุญบั้งไฟ ของชาวอิสาน # 3
http://www.tripandtrek.com/webboard2/show.php?Category=&No=48>
โดยคุณ TnT [2007-05-06 21:14:41] Bookmark and Share