กลับหน้าแรก | กระดานข่าวสีเขียว - สีคราม
ค้นหาคำถาม
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: :: ทริปเดินทาง ::: พาใจไปเที่ยว :: :: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
เชิญตั้งคำถามของคุณได้ที่นี่ครับ
กรุ่นกลิ่นไทยแลนด์ในแดนไทลื้อแห่ง“สิบสองปันนา”(2) โดย ปิ่น บุตรี 10 สิงหาคม 2548

...เมื่อเวลาเปลี่ยน ฟ้าเปลี่ยน คนเปลี่ยน สรรพสิ่งส่วนใหญ่ย่อมเปลี่ยนแปลงตาม...
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:39:44] Bookmark and Share

โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:42:58] #9560 (1/15)
“เชียงรุ้ง”เมืองหลวงแห่งสิบสองปันนาดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาว“ไทลื้อ” ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ที่พอถูกพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกโลกาภิวัตน์พัดผ่าน เชียงรุ้งก็ย่อมเปลี๊ยนไป๋เป็นธรรมดา

หากใครต้องการบรรยากาศแบบไทลื้อดั้งเดิมที่มีกลิ่นอายของคนไทยทางภาคเหนือเจือปน ณ วันนี้ในเมืองเชียงรุ้งยิ่งมายิ่งเหลือน้อยลงทุกที

ส่วนใครที่ต้องการบรรยากาศแบบบริโภคนิยมในพื้นที่ป่าคอนกรีตคล้ายดังเช่นกรุงเทพฯ ณ วันนี้ในเมืองเชียงรุ้งยิ่งมายิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่กระนั้นสิบสองปันนาก็ยังมีความเป็นไทลื้อแบบดั้งเดิมการะจัดกระจายอยู่ตามชนบท ตามชานเมือง ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ทำนา ชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย ตลาดร้านค้า บ้านเรือนและวัดวาอารามแบบไทลื้อก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งดูแล้วคล้ายๆกับบ้านเราที่ตามต่างจังหวัดและตามชนบทจะมีวิถีแบบไทยๆที่เปี่ยมไปด้วยน้ำมิตรไมตรีเข้มข้นกว่าในตัวเมืองใหญ่ๆ

บรรยากาศเหล่านี้ไม่เพียงคล้ายคลึงกับภาคเหนือของไทยในอดีตเท่านั้น แต่ยังถือเป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวไทยส่วนหนึ่งโหยหา เพราะว่าปัจจุบันเมืองไทยเราหาบรรยากาศเช่นนี้ได้ยากเต็มที

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:45:24] #9561 (2/15)
ใครที่อยากยลมนต์เสน่ห์แห่งวิถีไทลื้ออย่างกระชับ สั้น แต่ว่าได้อรรถรสเหลือหลาย ที่ตลาด(เช้า)ของเมืองนี้มีสีสันแห่งความเป็นไทลื้อให้ยลยินอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบกะดิน อย่างผักพื้นบ้านสารพัดอย่าง ผลไม้พื้นเมืองจำพวก แอปเปิ้ล ลูกท้อ สมุนไพร และของกินของใช้อีกเพียบ

ดูบรรยากาศการซื้อขายแล้วคล้ายกับตลาดสดตามชนบทในบ้านเรา แต่ที่เตะตาต้องใจผมเป็นอย่างมากก็เห็นจะเป็นการแต่งกายของหญิงชาวไทลื้อ ที่ส่วนใหญ่มากันในชุดสีสันสดใสทั้งชุดแบบดั้งเดิมและชุดตามสมัยนิยม บางคนสะพายย่าม บางคนหิ้วตะกร้า ส่วนผู้ชายชาวไทลื้อนั้นแต่งกายเหมือนชาวจีนทั่วๆไป

ความคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งของตลาดไทลื้อกับตลาดบ้านเราก็คือ นอกจากตลาดจะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ตลาดยังเป็นแหล่งพบปะ แหล่งข้อมูลข่าวสาร แหล่งสนทนา ของชุมชน ซึ่งหากใครอยากดูบรรยากาศเมาท์แตกที่ตลาดไทลื้อนี่ก็มีให้ชมเช่นเดียวกับตลาดบ้านเรา

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:46:25] #9562 (3/15)

วัดสวนมอนโดดเด่นด้วยพุทธศิลป์แบบไทลื้อ
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:48:55] #9563 (4/15)
ส่วนใครที่อยากชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องตามไปดูในหมู่บ้านของชาวไทลื้อที่อยู่นอกเมือง ใครอยากชมแบบดิบๆไม่มีการเสริมแต่ง ก็ลองเดินดุ่ยๆดุ่มๆเข้าไปในหมู่บ้านไทลื้อกันเอาเอง แต่ว่าสำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทั้งที่ไปกับทัวร์และเดินทางไปเที่ยวกันเองหากพูดถึงหมู่บ้านไทลื้อแล้ว เห็นจะไม่มีที่ไหนโดดเด่นเท่า “หมู่บ้านวัฒนธรรม”ในเมืองกาหลั่นป้าที่ปัจจุบันเมืองนี้ได้เปิดหมู่บ้านวัฒนธรรมแห่งนี้ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยได้ออกกฎห้ามไม่ให้ปลูกสร้างสิ่งใดๆที่ไม่ใช่สถาปัตยกรรมแบบไทลื้อ

หมู่บ้านนี้จึงดูโดดเด่นไปด้วยลักษณะของบ้านแบบไทลื้อที่ชวนมองด้วยบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีหลังคาจั่วมุงกระเบื้องดินเผายื่นยาวลาดต่ำปกคลุมไปค่อนตัวบ้าน ซึ่งสมัยก่อนในภาคเหนือของเมืองไทยก็มีบ้านลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก(พอถึงช่วงเดินซอกแซกเข้า-ออกบ้านโน้นบ้านนี้ผมจะเล่ารายละเอียดของบ้านชาวไทลื้อเพิ่มเติม)

นอกจากบ้านเรือนที่โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อแล้ว หมู่บ้านนี้ยังมี “วัดสวนมอน” (Man Su Mang) ศูนย์กลางของชุมชนที่เป็นวัดพุทธแบบเถรวาท

สำหรับความผูกพันของชาวไทลื้อในสิบสองปันนากับพระพุทธศาสนานั้น ในอดีตก่อนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ชาวไทลื้อมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา(นิกายเถรวาท)อย่างลึกซึ้งแนบแน่น วัดถือเป็นศูนย์กลางและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนเช่นเดียวกับสังคมไทย(ในอดีต) กิจกรรมหลายๆอย่างของชุมชนล้วนเกี่ยวข้องกับวัดและความเชื่อในศาสนาพุทธ

แต่ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในเมืองจีน ศาสนาพุทธต้องหยุดชะงักลง เพราะวัดวาอารามล้วนต่างถูกทำลาย พระเณรถูกจับศึกมาทำนา ทำให้ชาวไทลื้อไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลสำคัญมาถึงยุคปัจจุบัน เพราะเมื่อพระพุทธศาสนาขาดความต่อเนื่อง พระ-เณรยุคใหม่จึงขาดผู้มาสั่งสอนพระธรรมวินัย ด้วยเหตุนี้พระ-เณร(รุ่นใหม่)ส่วนใหญ่ในสิบสองปันนาจึงปฏิบัติตัวไม่แตกต่างไปจากฆราวาสเท่าใดนัก

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:51:33] #9564 (5/15)
ภาพของพระ-เณรขี่จักรยาน-มอเตอร์ไซค์ เตะฟุตบอล ร่วมโต๊ะฉันอาหารกับสีกา หรือเดินเล่นหยอกล้อกันจึงมีให้เห็นเสมอในสิบสองปันนา ซึ่งชาวไทยพุทธคนไหนไปเจอะเจอภาพแบบนี้เข้าก็ขอให้เข้าใจว่านี่คือสังคมของบ้านเมืองเขา

กลับมาที่วัดสวนมอนกันต่อ วัดนี้แม้ว่าจะไม่ใช่วัดใหญ่โต แต่ก็เป็นวัดที่โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่เมื่อเดินเข้าไปจะเห็นเจดีย์สีทองตั้งโดดเด่นอร่ามตา เคียงคู่กับโบสถ์ที่โครงสร้างส่วนบนทำด้วยไม้ดูสมส่วนอ่อนช้อยมีลวดลายแกะสลักและลายตกแต่งอยู่หลายจุด โดดเฉพาะที่มุขทางเข้าโบสถ์และหน้าบัน

วัดสวนมอนนอกจากจะโดดเด่นไปด้วยพุทธศิลป์แบบไทลื้อแล้ว วัดนี้ยังถือเป็นวัดสำคัญทางพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งของสิบสองปันนา

ในแต่ละวันที่วัดสวนมอนจึงมีผู้คน(จีน-ไทย-ต่างชาติ)เดินทางมายังวัดนี้กันไม่ได้ขาด มีทั้งที่มาเพื่อชมความงามของพุทธศิลป์แบบไทลื้อ มีทั้งที่จำใจเดินเข้าวัดตามไกด์เพราะนี่เป็นหนึ่งในโปรแกรมทัวร์ และมีทั้งที่เดินทางมาด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่างเช่นคุณป้าชาวไทลื้อ 2 คน ซึ่งแกเดินเข้ามาทักทายพูดคุยกับผมที่บริเวณลานวัดหน้าโบสถ์

แล้วบทสนทนาต่างภาษาระหว่างผม(ภาษาไทย)กับคุณป้าทั้ง 2 คน(ภาษาไทลื้อ)ก็เกิดขึ้นอย่างกระท่อนกระแท่น
แต่ว่าก็เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและน้ำมิตรไมตรี

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:52:35] #9565 (6/15)

หน้าบันโบสถ์วัดสวนมอนดูอ่อนช้อยและงดงามด้วยลายประดับ
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:54:00] #9566 (7/15)
ผมฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็พอจับใจความได้ว่าคุณป้าทั้ง 2 เดินทางมาจากเชียงรุ้งเช่นเดียวกับผม โดยทั้ง 2 คนมาที่วัดสวนมอนเพื่อต้องการมากราบไหว้พระพุทธรูป ก่อนที่จะเดินทางไปเยี่ยมญาติต่อยังต่างเมือง

หลังจากสนทนากับคุณป้าไทลื้อทั้ง 2 คน มันทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งที่มันได้บอกกับว่า

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:55:43] #9567 (8/15)

“การไปเยือนสิบสองปันนา เป็นเหมือนกับการเดินทางไปเยี่ยมญาติที่มีรากเดียวกันแต่ว่าต้องพลัดพรากจากกันไปเป็นเวลานาน”

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:56:56] #9568 (9/15)
ผมไม่รู้ว่า***เพื่อนคนนี้มันไปแอบจำสำนวนใครมาหรือเปล่า แต่ว่าผมเห็นด้วยกับคำพูดของมันเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากการที่ได้คุยกับคุณป่าทั้งสองคนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและน้ำใจไมตรี ผมรู้สึกเหมือนกำลังคุยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ผู้ใจดีที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกเอ็นดูต่อลูกหลาน ซึ่งถึงแม้ว่าภาษาพูดของเราทั้ง 2 ฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่ว่าเมื่อภาษาใจเรานั้นตรงกัน งานนี้แค่เพียงยิ้มให้กันมันก็มากเกินพอแล้ว...(อ่านต่อตอนหน้า)

โดย ปิ่น บุตรี
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-15 20:59:34] #9569 (10/15)
เรื่องและภาพ คัดลอกมาให้เพื่อนได้อ่านกัน
เขียนโดย ปิ่น บุตรี
จาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000106392
โดยคุณ ม่อน [2005-08-15 21:05:05] #9570 (11/15)
ทึ่งในศิลปะการลงสีทองบนเนื้อไม้ ทำไมมันทนแดดทนฝนได้นานขนาดนี้ เห็นตึกใหม่ทาสีสวยแป้บเดียวไม่ถึงปีมันก็ล่อนออกมาหมด
โดยคุณ PinKy Mail to PinKy [2005-08-16 01:01:02] #9575 (12/15)
กุ้ง จัดทริปเลยๆๆๆๆ
โดยคุณ Ducky [2005-08-16 07:38:30] #9578 (13/15)
อยากไปเหมือนกันคะ เคยเห็นรูปพระ เณร เล่นสงกรานต์ ยังสงสัยว่าทำไมเล่นได้ ตอนนี้รู้แล้วคะ ขอบคุณนะคะ Darling
โดยคุณ aor [2005-08-16 07:50:57] #9579 (14/15)
ขอบคุณสำหรับข้อมูล น่าไปเที่ยวจริงๆ เคยอ่านเรื่องราวมาบ้าง คิดเหมือนกันว่าน่าจะได้ไปเที่ยว
โดยคุณ หมูสเลนเดอร์ [2005-08-16 17:35:31] #9589 (15/15)
สัมผัสความรู้สึกแบบคุณปิ่น บุตรี ได้เหมือนกับ #9567-9568 ตอนที่ไปเชียงตุงเมื่อวันหยุดที่ผ่านมาค่ะ เป็นความรู้สึกปลื้มใจ สุขใจ และ ภูมิใจอย่างไม่สามารถบรรยายด้วยตัวอักษรได้ทั้งหมด เราได้เห็นวิถีชีวิตเรียบง่าย ที่ยังสืบสานวัฒนธรรมไว้ได้อย่างดี ได้ยินภาษาไทย ได้สื่อสารกัน และซึมซับความเป็นมิตร ความอ่อนโยน ที่ชาวเชียงตุงมีให้แก่ผู้มาเยือน แม้ว่าช่วงเวลา 3 วันจะดูสั้น แต่ก็รู้สึกประทับใจมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับวันจะหายไปจากสังคมไทยบ้านเราค่ะ

ขอบคุณ "คุณคนคุ้นเคย" ที่นำข้อมูลดี ๆ มาให้อ่านค่ะ