กลับหน้าแรก | กระดานข่าวสีเขียว - สีคราม
ค้นหาคำถาม
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: :: ทริปเดินทาง ::: พาใจไปเที่ยว :: :: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
เชิญตั้งคำถามของคุณได้ที่นี่ครับ
กรุ่นกลิ่นไทยแลนด์ในแดนไทลื้อแห่ง“สิบสองปันนา” (1)/ปิ่น บุตรี ผู้จัดการออนไลน์

กรุ่นกลิ่นไทยแลนด์ในแดนไทลื้อแห่ง“สิบสองปันนา” (1)/ปิ่น บุตรี ผู้จัดการออนไลน์
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-04 14:31:18] Bookmark and Share

โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-04 14:32:48] #9304 (1/7)
ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนไทยทั้งแท่งที่เกิดและโตในเมืองไทย แต่ว่าจนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่รู้เลยว่า“คนไทยเรามาจากไหนกันแน่???” เนื่องจากว่าข้อมูลที่ได้รับรู้มาตั้งแต่เล็กจนโตนั้น ถิ่นกำเนิดคนไทยมีหลายที่มาที่ไปเหลือเกิน

“เมืองสิบสองปันนา”ในมณฑลยูนนานของจีนก็นับเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่นักประวัติศาสตร์บางสำนักเชื่อว่า เดิมคนไทยน่าจะเคยมีรกรากอยู่ที่นี่มาก่อน เพราะว่าชาว“ไทลื้อ”ชนกลุ่มใหญ่ในสิบสองปันนานั้นมีความคล้ายคลึงกับคนไทยในสยามประเทศ(ทางเหนือ)อยู่ไม่น้อยทีเดียว

โดยทั้งไทลื้อและไทย ต่างก็มีรากมาจากชนชาติ “ไต” หรือ “ไท”เหมือนกัน ทำให้ทั้งคู่ต่างก็มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรม(ในอดีต)ที่คล้ายคลึงกัน และมีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่าง บ้าน ตลาด วัด วัง ที่ไม่แตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงเชื่อว่า คนไทยน่าจะเคยอยู่ที่สิบสองปันนามาก่อน

เรื่องนี้จริง–เท็จ อย่างไร คงต้องให้นักประวัติศาสตร์สืบค้นกันต่อไป?!?

แต่ที่ไม่ต้องสืบค้นด้วยประการทั้งปวงก็คือ ณ วันนี้เมืองสิบสองปันนา (Xihoungbanna)ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองที่มีเมือง“เชียงรุ้ง”เป็นเมืองหลวง ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในต่างแดนที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก

ยิ่งยุคนี้การเดินทางจากเมืองไทยไปยังสิบสองปันนาสะดวกสบายและสามารถไปได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ก็ยิ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสิบสองปันนามากขึ้นเรื่อยๆ

ในสมัยที่สิบสองปันนาเปิดเมืองใหม่ๆหลังสิ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีน ดินแดนแห่งนี้เสมือนเป็นภาพเก่าของเมืองไทย(ทางเหนือ)ในอดีตที่อบอวลไปด้วยความสงบ เรียบง่าย ใสซื่อ แต่ว่างดงาม ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ

แต่เมื่อ ฟ้าเปลี่ยนผัน วันเปลี่ยนผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนแปลง สิบสองปันนาก็ย่อมเปลี่ยนไปตามสายลมแห่งโลกทุนนิยมที่พัดผ่าน

วัฒนธรรมฟาสต์ฟู้ด วัฒนธรรมคาราโอเกะ วัฒนธรรมออนไลน์ วัฒนธรรมสายเดี่ยว วัฒนธรรมมือถือ และวัฒนธรรมทางวัตถุอีกสารพัดรูปแบบได้พัดพลิ้วซึมแทรกเข้าไปยังสิบสองปันนา โดยเฉพาะที่“เชียงรุ้ง”เมืองหลวง ซึ่งชื่อเมืองนี้สร้างความงุนงงให้กับผมไม่น้อยทีเดียว เพราะตามตำนาน...เมืองหลวงของสิบสองปันนาเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาถึงเมื่อยามรุ่งเช้า...คนไทยจึงเรียกเมืองนี้ว่า “เชียงรุ่ง” ส่วนชาวไทยลื้อเรียกว่า“เจียงฮุ่ง” (เจียงฮุ่งคือเชียงรุ่งในภาษาเหนือ)ส่วนคนจีนเรียกว่า “จิ่งหง” (Jinhong)

แต่ว่าเรียกเชียงรุ่งไปเรียกเชียงรุ่งมา ไหงกลายเป็น “เชียงรุ้ง”ไปได้ก็ไม่รู้ เรื่องนี้ “สมพงษ์ งามแสงรัตน์” ได้เขียนไว้ในพ็อคเก็ตบุ๊ค “จากเชียงรุ้งถึงฮอยอัน” ว่า “...คนที่กรมศิลป์บ้านเราไปเปลี่ยนให้เขาเสียเองเป็นเชียงรุ้ง...” แต่ไม่ว่าคนไทยจะเรียกเมืองหลวงของสิบสองปันนาว่าอย่างไร คนที่นั่นเขาขอให้เราไปเที่ยวบ้านเมืองเขาเยอะๆเป็นพอ เพราะว่าพวกเขาก็จะได้รับทรัพย์กันเยอะๆตามไปด้วย

ส่วนใครที่คาดหวัง(สูง)ว่า หากไปเที่ยวในเมืองเชียงรุ้งแล้วจะได้พบกับภาพอดีตของเมืองไทย ในยุคนี้ พ.ศ. นี้ บรรยากาศเช่นนั้นคงยากที่จะพานพบในตัวเมืองเชียงรุ้ง เพราะว่าเมืองหลวงแห่งนี้เมื่อกระแสลมแห่งทุนนิยมพัดผ่าน ความพลุกพล่านจอแจก็พัดมาแทนที่ความเรียบง่ายสงบงาม ทำให้ชีวิตผู้คนที่เรียบง่ายกลายเป็นชีวิตที่ต้องเร่งรีบแข่งขันกันทำมาหากินตามแบบฉบับของโลกทุนนิยมที่คุณค่าของเงินและวัตถุเหนือกว่าคุณค่าทางจิตใจ

แต่ถึงแม้ว่าเชียงรุ้งจะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของโลกทุนนิยม แต่ด้วยความที่เมืองนี้คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยวกันมาก บางแง่บางมุมของเชียงรุ้งเมืองหลวงแห่งสิบสองปันนา จึงมีกลิ่นอายแบบไทยๆแฝงตัวอยู่ท่ามกลางความเป็นไทลื้อผสมผสานความเป็นจีนยุคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งจากการได้ไปสัมผัสเชียงรุ้งมาผมรู้สึกว่าในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายสิ่งหลายอย่างได้รับอิทธิพลมาจากคนไทย และการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างก็ทำขึ้นมาเพื่อเอาไว้ดูดทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวไทย

สำหรับสิ่งที่เห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของความเป็นไทยยุคใหม่ก็คือ เรื่องของดนตรีแบบไทยๆตามสมัยนิยมที่วันนี้ไปโด่งดังในเมืองเชียงรุ้งอยู่หลายรายทีเดียว ซึ่งในยามเช้าของวันที่ผมเดินเข้า-ออก ร้านขายเทปและซีดีหลายๆร้านเพื่อหาซื้อบทเพลงของชาวไทลื้อกลับมาฟังยังเมืองไทย แต่ว่าบทเพลงของชาวไทลื้อกลับมีให้เลือกน้อยเหลือเกินไม่เหมือนกับเพลงสากลและเพลงไทยสมัยนิยมวางอยู่เกลื่อนแผง โดยนักร้องนักดนตรีของบ้านเราที่เห็นไปผงาดอยู่บนแผง เท่าที่เห็นในวันนั้นก็มี คาราบาว, โลโซ, ก็อต จักรพันธ์, ไมค์ พิรมย์พร, เบิร์ด : ธงไชย แมคอินไตย, ใหม่ เจริญปุระ และอีกนักร้องนักดนตรีอีกหลายคน ซึ่งแต่ละคนโกอินเตอร์ไปเมืองเชียงรุ้งในรูปแบบเทปผีซีดีเถื่อนทั้งนั้น

และไม่ใช่แค่ไปโด่งดังเฉพาะบนแผง แต่ว่าเพลงไทยยังเป็นที่นิยมร้องกันมากตามคาราโอเกะยามค่ำคืนของเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งนักร้องชาวไทลื้อบางคนร้องเพลงภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำทีเดียว

นอกจากเพลงแล้วภาพยนตร์ไทยของเราก็ไปบุกตลาดในรูปแบบของวีซีดี(เถื่อน)ที่เชียงรุ้งด้วยเช่นกัน เท่าที่เห็นหนังไทยผ่านตาและจำได้ก็มี องค์บากกับบอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม

สำหรับกลิ่นอายแบบไทยๆอีกอย่างหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าชาวไทลื้อทำเอาไว้เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวชาวไทยก็คือ เรื่องของภาษาไทยที่มีให้เห็นบ้างตามร้านอาหาร โรงแรม แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือในร้านหนังสือ เพราะมีหนังสือหลายเล่มที่เป็นเสมือนคู่พจนานุกรมภาษาไทยและภาษาไทลื้อ ซึ่ง ณ วันนี้ชาวไทลื้อรุ่นใหม่หลายๆคนไม่สามารถพูดภาษาไทลื้อได้ เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นล้วนต่างเติบโตมาจากวัฒนธรรมและภาษาจีนกลาง

ภาษาไทยลื้อในสิบสองปันนา ณ วันนี้จึงเป็นภาษาที่ใช้พูดกันเองแค่ในกลุ่มเท่านั้น แต่ที่น่าคิดก็คือในวันนี้ชาวไทลื้อนิยมเรียนภาษาไทยกันไม่น้อยทีเดียว เรื่องนี้คงเป็นเพราะว่าในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปแอ่วสิบสองปันนากันเป็นจำนวนมาก ชาวไทลื้อหลายๆคนจึงเลือกเรียนภาษาไทยเพื่อมาเป็นไกด์หรือไม่ก็เอาไว้ทำธุรกิจกับคนไทย

ในขณะที่ในตัวเมืองเชียงรุ้งอบอวลไปด้วยวิถียุคใหม่ของไทลื้อ จีน และไทย(ในบางแง่มุม) แต่ก็ใช่ว่าที่นี่จะไม่มีบรรยากาศวิถีแบบเก่าให้ชมเอาเสียเลย(เป็นบรรยากาศที่คล้ายๆกับเมืองไทยในอดีตด้วย) เพราะในวันที่ผมเดินเที่ยวเมืองเชียงรุ้งก็ยังคงเห็นผู้หญิงสูงวัยชาวไทลื้อหลายๆคน ยังคงแต่งกายพูดคุยและใช้ชีวิตในวิถีแบบเดิม ซึ่งที่สร้างความประทับใจให้ผมมากก็คือคุณป้าชาวไทลื้อที่เดินมาในชุดไทลื้อคนหนึ่ง ที่เดินเข้ามาทักทายผมในระหว่างที่กำลังเดินโต๋เต๋ถ่ายรูปบรรยากาศเมืองเชียงรุ้งอยู่เพลินๆ

ถึงแม้ว่าคุณป้าจะทักทายผมด้วยภาษาไทลื้อ แต่ว่าบางคำบางประโยคผมก็พอฟังรู้เรื่องบ้าง อย่างเช่น เป็นคนไทยใช่ไหม? มาแอ่วเชียงรุ้งใช่หรือเปล่า? และอีก 2-3 ประโยค แต่ที่ประทับใจไม่ลืมก็คือรอยยิ้มและอัธยาศัยอันเปี่ยมไปด้วยน้ำใจไมตรีของคุณป้าคนนี้ ซึ่งนับเป็นรอยยิ้มโอเอซิสท่ามกลางทะเลทรายวัตถุนิยม ที่ปัจจุบันรอยยิ้มและน้ำใจไมตรีอันอบอุ่นเช่นนี้นับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยลงทุกที...(อ่านต่อตอนหน้า)
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-04 14:33:57] #9305 (2/7)
เห็นว่าน่าสนใจ เลย copy มาให้เพื่อนอ่านกัน
โดยคุณ นายซาไกทัดดอกฝิ่น [2005-08-04 15:03:23] #9307 (3/7)
ขอบคุณครับ
โดยคุณ Ducky [2005-08-04 17:17:03] #9313 (4/7)
อ้าย copy มาฮื้ออ่าน แล้วอ้ายอ่านแล้วก๋า
โดยคุณ PinKy Mail to PinKy [2005-08-04 17:19:17] #9314 (5/7)
อยากไปมากเลยฮะ
โดยคุณ debby [2005-08-04 18:51:12] #9316 (6/7)
ขอบคุณค้าบ
โดยคุณ อร Mail to อร [2005-08-16 22:28:50] #9597 (7/7)
สิบสองปันนา ควรจะไปเที่ยวเดือน ไหน ดี