จากผู้เขียนเรื่องป่า...
      อาจารย์วัธนา บุญยัง
       ผมมีโอกาสได้สัมผัสป่าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ เป็นการตามญาติผู้ใหญ่เข้าไปตัดหวายออกมาขาย เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมากว่าสี่สิบปีแล้ว ป่าดงดิบทึบทะมึนแห่งนั้น บัดนี้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ มีแต่โรงงานเต็มไปหมด ขับรถผ่านทีไรนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก ว่าป่าที่เคยกลัวเสือแทบตายมันหายไปได้อย่างไร แม้แต่ซาก คือ ไม้ใหญ่สักต้นก็ไม่มีให้เห็น
       ผลจากการได้เข้าป่าเป็นครั้งแรกป่าที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ ฟังแต่คำบอกเล่าของคนรุ่นเก่ามานับครั้งไม่ถ้วน มันมืดครึ้ม ลึกลับ น่าสะพรึงกลัวจริงสมดังคำเล่าขาน ทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยอันตราย ไม่ว่าจากสัตว์ใหญ่อย่างเสือ หมี หรือช้าง ลงมาถึงสัตว์ขนาดเล็กอย่าง งู เห็บ และทาก หนทางที่ไปก็แสนยากลำบาก
เกวียนเทียมควายสามเล่มที่บรรทุกเสบียงเข้าไป ต้องช่วยกันลากบ้าง เข็นบ้าง ตัดกิ่งไม้รกขวางทาง ตัดทางใหม่อ้อมต้นไม้ล้ม ข้ามห้วย ขึ้นเนินไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะถึงที่หมาย
       แต่ป่าหามีแต่ความน่ากลัวอย่างเดียวไม่ ตรงกันข้ามยังมีความสงบ ร่มรื่ม และสวยงามน่าพิศวงอย่างยากที่จะหาที่ใดเสมอเหมือน ไม้ใหญ่แต่ละต้นสูงจนต้องแหงนมองกันเมื่อยคอ ลำต้นใหญ่หลายคนโอบ มีเถาวัลย์และบันไดลิงพันเกี่ยวระโยงระยาง ไม้ผลมีให้เก็บกินกันหลายชนิด มะไฟป่า ระกำ มะม่วง มะกอก ฯลฯ
       ดอกไม้ป่าบานอยู่ดาษดื่น เข็มป่าส้ม เครือออนสีชมพูอมม่วงคลุมอยู่บนยอดไม้ ตะแบก ประดู่ ยิ่งกล้วยไม้ประเภทช้างกระและกุหลาบม่วง บานส่งกลิ่นหอมเย็นมาเป็นระยะ
       ตลอดทางที่ผ่านไป สัตว์ป่าสวยงามอย่างลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต มีให้เห็นและส่งเสียงให้ได้ยินตลอดเวลา โดยเฉพาะนกนานาชนิด ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่างนกเงือกกรามช้าง เหยี่ยวรุ้ง ลงมาถึงนกแก้ว นกขุนทอง เขาเปล้า และ กางเขนดง
       สัตว์บกก็มีให้เห็นกลางวันแสก ๆ โดยเฉพาะเก้งวิ่งตัดหน้าขบวนในระยะใกล้หลายครั้ง ไม่ต้องพูดถึงรอยเท้าบนพื้นดิน ตามริมห้วยเต็มไปด้วยรอยหมู เรื่อยขึ้นไปถึงกระทิงและช้าง แต่ที่ทำให้ทุกคนหนาว ๆ ร้อน ๆ โดยเฉพาะเด็กอย่างผม คือ รอยกลมใหญ่เกินฝ่ามือกาง ที่ลุงคนนำทางชี้ให้ดูแล้วบอกว่ารอยเสือ ได้ยินคำว่าเสือ แทบจะทุกคนก็เกิดอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว ราวกับเป็นไข้รู้สึกว่าป่ามันเย็นยะเยือกขึ้นมาทันที ทั้งที่เดินกันมาร้อนจนเหงื่อหยด

     และทั้งหมดนั่นเอง คือเสน่ห์ที่ทำให้ผมหลงใหลกลายเป็นคนชอบเที่ยวป่ามาจนกระทั่งบัดนี้
>>> ประวัติ อาจารย์วัธนา บุญยัง