:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::
   เรื่องเล่าคนเดินทาง
   เทคนิคแคมป์
   เรื่องเล่าติดแสตมป์
   นานา..น่าลอง
   ศิลปวัฒนธรรม
   เรื่องเล่าจากราวไพร  
   สมุดเยี่ยม
   มองผ่านเลนส์
   ทริปเดินทาง ปี 53  
   แนะนำตัว
สมัครสมาชิกรับข่าวสาร ฟรี!!





:: ศิลปวัฒนธรรม :: เพื่อส่งเสริมสำนึกรักศิลปวัฒนธรรมไทย ::

:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::











เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติความเป็นมา

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ป่าไม้จังหวัดชัยภูมิได้เสนอกรมป่าไม้ให้จัดตั้ง ป่าภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ เนื่องจากป่าภูเขียวซึ่งเป็นป่าโครงการไม้กระยาเลยภูเขียวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498 ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญและมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก อีกทั้งมีชาวบ้านเข้าไปยิงกระซู่ได้ 2 ตัวในปี พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2513 ฝ่ายจัดการสัตว์ป่า กองบำรุง กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจสภาพป่า สัตว์ป่า และความเหมาะสมต่าง ๆ พบว่ายังมีร่องรอยของกระซู่และสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เสือ กวาง เก้ง เลียงผา และนกชนิดต่าง ๆ สภาพป่ายังบริสุทธิ์และอยู่ในขั้นเตรียมการทำไม้ แต่มีราษฎรเข้าไปจับจองบุกรุกแผ้วถางป่าหลายแห่งในบริเวณทุ่งกะมัง ศาลาพรม หนองไรไก่ ภูดิน ปางม่วง และซำเตย และเตรียมที่จะบุกรุกเพิ่มมากขึ้น ในขณะนั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายังไม่เป็นที่รู้จักและมีเพียงแห่งเดียวคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี จึงทำการดำเนินการประกาศป่าภูเขียวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นไปด้วยความลำบาก จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจนบรรลุผลสำเร็จโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 154 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2515 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 82 วันที่ 26 พฤษภาคม 2515 ให้ป่าภูเขียวเนื้อที่ 883,125 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การดำเนินงานระยะแรกประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกรุกแผ้วถางป่ากำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกทั้งการนำเอาวัวควายมาเลี้ยง การล่าสัตว์ป่าในบริเวณทุ่งกะมัง และศาลาพรมจำนวนมาก ในที่สุดก็สามารถอพยพราษฎรเหล่านี้จำนวน 148 ครอบครัวออกจากพื้นที่กลับไปยังภูมิลำเนาเดิมได้สำเร็จในปี 2516 ต่อมาในเดือนมีนาคม 2518 ราษฎรประมาณสองพันคนได้รวมตัวกันเดินขบวนโอบล้อมที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวที่ศาลาพรม ยื่นเงื่อนไขแก่เจ้าหน้าที่เพื่ออนุญาตให้ราษฎรกลับเข้าไปอยู่อาศัยในถิ่นเดิมที่ทุ่งกะมัง เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องยินยอมให้ราษฎรทั้งหมดเข้าไปยึดครองพื้นที่ทุ่งกะมังได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ราษฎรจากที่อื่นเข้าไปเพิ่มมากขึ้นรวมสถิติสูงสุด 20,000 คน มีการจัดสรรแบ่งแปลงจากทุ่งกะมังไปยังบึงแปนอยู่ทั่วไป กรมป่าไม้จึงได้ประสานงานกับจังหวัดชัยภูมิและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการยับยั้งราษฎรที่บุกรุกเป็นขั้นตอน จนสามารถอพยพออกจากพื้นที่เข้าไปอยู่ในโครงการจัดพัฒนาที่ดินบ้านทุ่งลุยลายและกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2519
เนื่องจากขณะนั้นสถานการณ์ก่อการร้ายในป่าภูเขียวได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่าง รวดเร็วและการอพยพราษฎรออกจากพื้นที่อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าภูเขียวถูกซุ่มโจมตียานพาหนะขณะออกเดินทางปฏิบัติงานก่อสร้างสำนักงานส่วนกลาง ทุ่งกะมังเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519 เป็นผลให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 นายบาดเจ็บอีก 9 นาย จึงทำให้ต้องระงับการเข้าไปควบคุมพื้นที่ทุ่งกะมังและถอนกำลังกลับมาปฎิบัติงานที่ศาลาพรมอีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งภายหลังจากถูกซุ่มโจมตีเป็นต้นมา สถานการณ์รอบด้านอยู่ในสภาวะตึงเครียดเป็น ที่สุด ถึงแม้ว่าจะได้มีการฝึกหลักสูตรการต่อสู้ป้องกันตัวแก่เจ้าหน้าที่ก็ยังมีการปะทะต่อสู้และถูกซุ่มโจมตีอีกหลายครั้งทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตอีก 3 นาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติให้ประกาศป่าภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นครั้งที่ 2 ควบคุมพื้นที่เพิ่มเติมเป็น 975,000 ไร่ โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 32 วันที่ 8 มีนาคม 2522 ขยายพื้นที่ออกไปในบริเวณที่ถูกราษฎรบุกรุกแผ้วถาง เช่น บริเวณพรมโซ้ง ซำเตย หนองไรไก่ ปางม่วง และลำสุ จึงจำเป็นต้องอพยพราษฎรอีกประมาณ 500 ครอบครัวออกจากพื้นที่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการหลายฝ่าย และจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ มีการอพยพราษฎรไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่โครงการพัฒนาป่าดงลายที่ 2 บ้านอ่างทอง อ. สีชมพู จ. ขอนแก่น เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2525 นอกจากนั้นหน่วยกำลังรบหลาย กองพันได้เข้าไปควบคุมและสลายการก่อการร้ายในทุ่งกะมังและป่าภูเขียวทุกจุดอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างปีพ.ศ. 2522-2526 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้มีแนวทางการปฏิบัติงานมวลชนรอบเชิงเขาเปลี่ยนจากการต่อสู้ป้องกันตัวไปเป็นงานช่วยเหลือราษฎรในหมู่บ้าน งานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ทางด้านการสร้างความมั่นคงในชนบทที่หมู่บ้าน และเป็นวิทยากรฝึกอบรมตามหลักสูตรความมั่นคงของชาติแล้วส่งไปร่วมเป็นวิทยากรอบรมผู้นำชุมชนต่าง ๆ ทำให้สถานการณ์ที่เคยรุนแรงกลับลดลงไปมาก ในปี 2526 มีการเตรียมการรับเสด็จและสร้างสำนักงานส่วนกลางทุ่งกะมังเป็นไปด้วยความรวดเร็ว การก่อสร้างหน่วยพิทักษ์ป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายหลายแห่ง ผลของการจัดฝึกอบรมเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทำให้งานป้องกันของป่าภูเขียวอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมที่ทุ่งกะมังเมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2526 และทรงตรวจเยี่ยมงานตามโครงการพระราชดำริในลักษณะต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงปล่อยสัตว์ป่า ณ ทุ่งกะมัง และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่มาถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่จะไม่เข้าป่าล่าสัตว์ในป่าภูเขียวอีก พร้อมกับน้อมเกล้าฯ ถวายปืนล่าสัตว์จำนวนกว่า 1,200 กระบอกแด่พระองค์ท่าน

ที่ตั้งและอาณาเขต

สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวตั้งอยู่ที่ทุ่งกะมัง (ใจกลางป่าภูเขียว) ห่างจากอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ตามเส้นทางรถยนต์ 82 กิโลเมตร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร ตำบลนางแดด ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบล กุดเลาะ ตำบลบ้านยาง และตำบลหนองข่า อำเภอเขตขยายเพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,560 ตารางกิโลเมตร หรือ 975,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้สำรวจหมายแนวเขตขยายเพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,125,000 ไร่
ทิศเหนือ   แนวเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขื่อน จุฬาภรณ์
ทิศใต้   อยู่ในท้องที่อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
ทิศตะวันออก  ติดต่อกับป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและอำเภอเกษตรสมบูรณ์
ทิศตะวันตก ตามแนวเขตจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยติดต่อกับป่าสงวนแห่งชาติห้วยหินคลองตีบและท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

ลักษณะภูมิประเทศ

ภูมิประเทศด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินทรายมีหน้าผาสูงชันเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร บางแห่งที่ดินตื้นมีลักษณะเป็นลานหินหรือสวนหินบริเวณกว้างก่อให้เกิดทัศนียภาพที่แปลกตาและสวยงามดีอีกแบบหนึ่ง ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วยถ้ำขนาดใหญ่สวยงาม หลายแห่ง เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำเม่น ถ้ำผาเทวดา ถ้ำคนตาย และถ้ำภูเขียว มียอดเขาสูงสุดคือ เขาอุ้มนางสูง 1,242 เมตรอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งกะมัง ภูเขียวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์และภูเขาสูงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญยิ่งของลำน้ำพรม ลำสะพุง และแม่น้ำซี ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นต้นกำเนิดของห้วยดาด ห้วยไม้ซอด ห้วยซาง ไหลลงสู่ลำน้ำพรม ส่วนทางทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นต้นกำเนิดของลำสะพุง และแม่น้ำซี ซึ่งมีแหล่งต้นน้ำลำธารมาจากห้วยไขว่ ห้วยเพียว ห้วยป่าเตย ลำสะพุงน้อยและลำสะพุงลาย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในท้องที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภูเขียว อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิและชุมชนหลายจังหวัดแล้วไหลไปรวมกับลำน้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี

ลักษณะภูมิอากาศ

ภูมิอากาศโดยทั่วไปเย็นและชื้น เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร มีป่าทึบปกคลุมเป็นส่วนมากและอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มีฤดูกาลทั้ง 3 ฤดู
ฤดูฝน จะมีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่อาจจะทิ้งช่วงบ้างในเดือนมิถุนายน โดยตกหนักมากในเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 2,000 ลบ.มม.
ฤดูหนาว อุณหภูมิจะเริ่มหนาวเย็นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และหนาวจัดในเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงนี้ 10 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 2 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธุ์ถึงปลายเดือนเมษายน แต่ในช่วงนี้อาจจะมีฝนตกลงมาบ้าง อากาศในตอนกลางคืนยังคงเย็น โดยทั่วไปอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูนี้ในเวลากลางวัน 25 องศาเซลเซียส

ชนิดป่าพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ป่า

ชนิดป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ (Tropical Rain Forest) ซึ่งประกอบด้วยป่าดงแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าดิบชื้น (Tropical Evergreen Forest) และป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) นอกนั้นมีป่าสนเขา (Pine Forest) ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าเต็งรัง (Dry Diptorocarps Forest) และทุ่งหญ้า (Savanna) พรรณพืชประกอบด้วย ไม้ยาง ตะเคียนหนูหรือตะเคียนหิน ตะแบก มะค่าโมง มะค่าแต้ แต่ตามหุบเขา ริมลำห้วย ลำธาร จะรกทึบยิ่งขึ้นกลายเป็นป่าดงดิบซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ มะม่วงป่า ตะเคียนทอง กระบาก ยาง มะพลับ มะแฟน มะไฟ ชมพู่ป่าและมีเถาวัลย์ ไม้พื้นล่างเช่น บอนป่าหวาย ระกำ ไม้ไผ่ต่าง ๆ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ตามยอดเขาซึ่งมีระดับความสูงตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไปมักจะมีสนเขาซึ่งเป็นชนิดสนสามใบซึ่งอยู่สลับกับพันธุ์ไม้ป่าดิบเขาจำพวกก่อขึ้นอยู่หนาแน่นเมื่อระดับความสูง เพิ่มขึ้น ป่าเบญจพรรณปรากฎเป็นหย่อมเล็ก ๆ ตามเนินเขาที่ไม่สูงมากนักมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญขึ้นอยู่ ได้แก่ มะค่าโมง ตะแบก แดง ประดู่ อ้อยช้าง มะกอก ไม้ไผ่ ในบริเวณที่ดินตื้นหรือดินลูกรังตามเนินเขาจะเป็นป่าเต็งรังขึ้นอยู่สลับกับป่าเบญจพรรณ โดยมีพันธุ์ไม้จำพวก เต็งรัง พะยอม เหียง มะกอก ตะแบก มะขามป้อม ยอป่า ลมแล้งและกระโดน นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสลับกับป่าโปร่งตามบริเวณยอดเขาที่มีดินตื้นยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งและแหล่งน้ำในลักษณะบึงตามธรรมชาติอีกหลายแห่ง เช่น ทุ่งกะมัง บึงแปน บึงมน บึงค้อและบึงยาวสลับกับป่าดงดิบที่แน่นทึบซึ่งทำสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุมชุมและมากมายหลายชนิด แม้กระทั่งกระซู่เป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้จะสูญพันธุ์ของประเทศไทยก็ยังพบร่องรอยอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมี เลียงผา ช้างป่า กระทิง เสือโคร่ง เสือดาว กวาง เก้ง กระจง หมีชะนี ลิง ค่าง หมูป่า ซึ่งจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่และนกต่าง ๆ ที่หายาก เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกชนิดต่าง ๆ นกกางเขนดงและนกหัวขวานหลายชนิด คาดว่าเมื่อได้มีการสำรวจอย่างละเอียดจะได้พบสัตว์ป่าใหม่ ๆ แปลก ๆ อีกหลายชนิด

จุดเด่นที่น่าสนใจ

ศาลปู่เหนาะ  เป็นสิ่งที่ชาวภูเขียวตลอดจนชาวบ้านใกล้เคียงเคารพนับถือ เชื่อกันว่าปู่เหนาะเป็นผู้คุ้มครองชีวิตต่าง ๆ ในป่าภูเขียว ให้มีความสุขแคล้วคลาดจากอันตราย ปู่เหนาะมีชื่อเต็มว่า เรืออากาศตรีเสนาะ เขตตสิริ เป็นนักบินกองทัพอากาศ ประจำที่ บน. 4 (อำเภอ โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี) ในปี พ.ศ. 2482 ร.ต.เสนาะได้นำเครื่องบินเดินทางจากจังหวัด พิษณุโลกพร้อมกับเครื่องบินลำอื่นอีก 2 ลำ ในระหว่างเดินทางได้หลงมาในบริเวณป่าภูเขียวเครื่องบินเกิดขัดข้อง ร.ต. เสนาะพยายามนำเครื่องบินร่อนลงหน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรม ผลปรากฎว่า ร.ต. เสนาะ เขตตสิริ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต โดยที่คนอื่น ๆ ไม่ได้รับบาดเจ็บเลย ผู้ที่รอดชีวิต 5 คน ได้ฝังศพปู่เหนาะไว้ที่ศาลาพรมแล้วหาทางเดินทางออกจากป่าภูเขียว จนในที่สุดได้กลับมานำศพของปู่เหนาะไปทำพิธีอีกครั้งที่กรุงเทพมหานคร แม้จนปัจจุบันนี้ชื่อของเรืออากาศตรี เสนาะ เขตตสิริ ก็ยังปรากฎอยู่บนอนุสาวรีย์ของกองทัพอากาศดอนเมือง จากวีรกรรมความกล้าหาญนี้ประกอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องแปลกใหม่ของชาวบ้านในยุคนั้น ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้นแล้วอัญเชิญดวงวิญาณของปู่เหนาะให้สิงสถิตอยู่เพื่อพิทักษ์รักษาและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจตลอดมา
ลำน้ำพรม   ไหลคดเคี้ยวอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวทางด้านเหนือ ด้านทิศตะวันออกมีลำห้วยดาดหรือลำโดกเป็นห้วยสายหลักที่ทำให้น้ำพรมตอนล่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ซึ่งผันน้ำลำพรมเดิมไปผลิตกระแสไฟฟ้าไหลออกสู่พื้นที่บริเวณลำสุมีน้ำไหลตลอดปี บนลำน้ำพรมมีลานจันทร์ซึ่งประกอบด้วยลานหิน วังน้ำลึกที่คดเคี้ยว ดูสงบร่มรื่น
ลานจันทร์และตาดหินแดง   ลานจันทร์มีลักษณะเป็นลานหินกว้างในลำน้ำพรมมีน้ำไหลผ่านตลอดปี เป็นบริเวณร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่น้อย เพราะมีป่าดิบชื้นอยู่รอบ ๆ มีพวกมอส เฟิร์น หวาย พลูและวานต่าง ๆ หลายชนิด ถ้าเดินเรียบไปตามลำน้ำจะพบหินสีแดง ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกว่า ตาดหินแดง ทั้งลานจันทร์และตาดหินแดง เป็นสถานที่เหมาสมมากสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจคลายความตึงเครียด เป็นสถานที่ร่มรื่นและสวยงามมาก
ทุ่งกะมัง   เป็นทุ่งกว้างใหญ่คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร ตั้งอยู่กลางพื้นที่ป่าภูเขียวค่อนไปทางทิศตะวันตก ลักษณะเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติบนลูกเนินสูงต่ำสลับประดุจลูกคลื่นต่อเนื่องกันไป มีธารน้ำหลายสายไหลผ่าน พื้นที่โดยรอบเป็นป่าดิบเขา บางตอนมีป่าสนขึ้นสลับกับต้นเหียงและต้นก่อ บริเวณกลางทุ่งกะมังเกือบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเลยนอกจากพันธุ์ไม้ดอกหลายชนิดขึ้นแซมตามกอหญ้าเป็นหย่อม เป็นสภาพที่สวยงามมาก
บึงแปน   มีเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 900 เมตร สภาพภูมิประเทศทุ่งหญ้าคล้ายทุ่งกะมังแต่มีลักษณะเป็นทุ่งราบเรียบและอยู่ในที่ลุ่มต่ำ มีน้ำเจิ่งนองในฤดูฝน ในฤดูแล้งมีหนองน้ำอยู่กลางทุ่ง บึงแปนตั้งอยู่กลางพื้นที่เขตฯภูเขียวค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าชุกชุมสังเกตได้จากมีร่องรอยด่านสัตว์มากมาย ติดกับบึงแปนทางทิศใต้มีบึงยาวซึ่งมีความกว้างเท่ากัน โดยมีหย่อมไม้ขนาดเล็กกั้นระหว่างบึง มีพันธุ์ไม้ดอกขึ้นอยู่ทั่วไป จากบึงแปนและปึงยาวจะมีเส้นทางไปสู่แหลแม่ไต๋
น้ำตกตาดคร้อ   เป็นน้ำตกสูงใหญ่อยู่ทางด้านทิศใต้ของทุ่งกะมังใกล้กับศูนย์พิทักษ์ป่าภูเขียวที่อำเภอหนองบัวแดง ไหลลงสู่ลำน้ำสะพุง
น้ำตกห้วยหวาย   อยู่ห่างจากบึงแปน 6 กม. เป็นน้ำตก 2 ชั้นสูงชั้นละ 20 เมตร ตรงบริเวณช่องเขาขาด อยู่ระหว่างเขาภูน้อยและเขาภูเขียวใหญ
น้ำตกนาคราช   อยู่ระหว่างทางจากศาลาพรมไปทุ่งกะมัง บริเวณกิโลเมตรที่ 11 เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางในป่าอีก 300 เมตร ความกว้างของน้ำตกนาคราชประมาณ 5 เมตร มีความสูงต่างระดับถึง 3 ชั้น ชั้นแรกสูง 14 เมตร ชั้นที่ 2 สูง 10 เมตร ชั้นที่ 3 สูง 6 เมตร บริเวณ น้ำตกมีว่านพญานาคราชขึ้นอยู่จำนวนมากจึงตั้งชื่อว่า “น้ำตกนาคราช”
ผาเทวดา  เป็นภูเขาหลายเทือกติดต่อกันยาวประมาณ 6 กิโลเมตร ยอดผาสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเป็นเทือกเขายาว หินผาเทวดามีสีขาวคล้ายหินปูน มีน้ำไหลผ่านเรียกว่า “ชีผุด” เป็นต้นน้ำของแม่น้ำชีมีความกว้างประมาณ 10-15 เมตร ไหลทะลุออกมาทางทิศใต้ของเขาเทวดาแล้วไหลลงชีใหญ่ที่บ้านโหล่น ลำชีจะไหลจากเหนือไปใต้ สองข้างฝั่งมีลักษณะเป็นหินกรวดก้อนเล็ก ๆ ชีผุดมีน้ำที่ใสมากลึกประมาณ 1 เมตร สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ได้แก่ กระทิง หมี เม่น กวาง และช้างป่า ตรงหุบเหวและเทือกเขาเทวดาเป็นป่าค่อนข้างแน่นทึบเรียกว่า ป่าครอบ มีลำชีไหลผ่านกลางป่าจนถึงและมุดเข้าไปในเชิงเขา เรียกว่า ชีดั้น ชีดั้นและชีผุดมีถึง 3 ชั้น ชีดั้นแห่งแรกคือ เขาถ้ำครอบ ลำน้ำไหลหายเข้าไปในถ้ำผระมาณ 500 เมตร แล้วผุดออกไปประมาณ 300 เมตร จึงหายเข้าไปในเขาไกลถึง 8 กิโลเมตร สุดท้ายหายเข้าไปในเขาอีก 1 กิโลเมตร จึงผุดออกมาที่ทับกกเดื่อซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโหล่นประมาณ 10 กิโลเมตร พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็น ตะเคียน ยาง พยอม ไผ่ ไม้พื้นล่างมี หวาย ตาว สัตว์ป่า เช่น ช้าง หมี เสือ กวาง เม่น และมีนกกาฮังอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งบริเวณครอบเคยสำรวจพบร่องรอยของกระซู่ 3-5 ตัวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ในบริเวณป่าครอบนี้มีน้ำตก 7 ชั้นอยู่บนเทือกเขาเทวดา เป็นน้ำตกหินปูนสีขาวไหลลาดลงตามทางยาวแต่ละชั้นสูง 15-20 เมตร รวมทั้งสิ้นสูงประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 20-25 เมตร
ภูคิ้ง   เป็นทุ่งหญ้ากว้างประมาณ 1,500 ไร่ บนเนินสูงของขอบเขาภูเขียว อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบึงแปน ภูคิ้งเป็นหน้าผาสูงชันมีความงดงามตามธรรมชาติมา เส้นทางจากยอดคิ้งไปบึงแปนจะมีพันธุ์ไม้ที่สวยงามขึ้นอยู่ เช่น กุหลาบป่า แววมยุรา ดาวเรืองภู กระดุมเงิน ต่างหูขาว เอ็นอ้า มอส เฟิร์น ไลเคนและกล้วยไม้ดินต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีสวนไม้แคระกระจายอยู่ทั่วไป สัตว์ป่าบริเวณนี้พบหลายชนิด เช่น เก้ง กวาง หมาไน นกต่าง ๆ เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เช่น มะขามป้อม มะกอกป่าและก่อชนิดต่าง ๆ
แหลหินตั้ง  อยู่ถัดจากยอดคิ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 เมตร มีลักษณะคล้ายกับยอดคิ้ง คือ ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาชันส่วนด้านอื่นเทลาดลงไป แตกต่างจากยอดคิ้งตรงที่ทุ่งหญ้ากลายเป็นสวนหิน หินบางก้อนมองคล้ายเป็นรูปสัตว์ บางก้อนวางซ้อนกันอยู่ได้อย่างประหลาดในลักษณะรูปแบบต่าง ๆ

การเดินทาง

โดยทางรถยนต์ จากกรุงเทพไปถึงอเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร จากอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ไปตามเส้นทางของแก่น-หล่มสักประมาณ 20 กิโลเมตร แยกซ้ายไปตามเส้นทางคอนสารเขื่อนจุฬาภรณ์ ถึงศูนย์พิทักษ์ป่าภูเขียวที่ 1 ปางม่วง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 แยกซ้ายมือที่ด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าปางม่วง ไปตามทางลาดยาง 8 กิโลเมตรถึงหน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรม จากหน่วยศาลาพรมเดินทางต่อไปอีก 18 กิโลเมตร ถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวทุ่งกะมัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าภูเขียว รวมระยะทางจากอำเภอชุมแพถึงทุ่งกะมัง 82 กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้จัดที่พักไว้คอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจเข้ามา ทัศนศึกษา ค้นคว้าวิจัยทางนิเวศวิทยา สัตว์ป่า และพรรณพืช ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบการขอใช้บ้านพักของทางราชการอย่างเคร่งครัด
บริเวณสำนักงานเขตฯภูเขียว (ทุ่งกะมัง) ยังจัดให้มีเต้นท์ ร้านสวัสดิการ อาหาร เครื่องดื่ม ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 20.00 น. บรรยายประกอบสไลด์ป่าภูเขียว นกกระเรียน ชีววิทยาป่าไม้ของป่าภูเขียว ห้องนิทรรศการ หอดูสัตว์ บุคคลากรนำทางเดินป่า คำแนะนำในการสำรวจพื้นที่

การติดต่อ

โทร. 5614292-3 ต่อ 706,707


©2002-2005 by TripandTrek
Contact :
webmaster@tripandtrek.com , MobilePhone : 0-6510-2074