ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
มีนาคม 29, 2024, 06:50:10 PM
ศิลปวัฒนธรรม [ ปี 1-5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ศิลปวัฒนธรรม (ผู้ดูแล: tooom, bamboo)
| | |-+  ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์  (อ่าน 5678 ครั้ง)
ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
« เมื่อ: มีนาคม 16, 2009, 09:13:31 AM »

 หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเทพปัญญา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในช่วงเย็นวันที่ 13 มี.ค.2552 ที่ผ่านมา ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก
       
        ล่าสุด ในเวลาช่วงค่ำที่ผ่านมาประมาณ 18.05 น.ของวันนี้ (15 มี.ค.) มีรายงานว่านายณรงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนชื่อดังรุ่นใหญ่ก็ได้จากโลกนี้ไปแล้วในวัย 77 ปี
        ...
        ตลอดระยะเวลาเกือบจะ 8 ทศวรรษของการมีลมหายใจอยู่ในโลก ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสรรหาคำมาอธิบายต่อ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
       
        ลูกผู้ชายที่เป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักเลง และศิลปินนักใช้ชีวิตอันมีแนวทางที่ชัดเจนเป็นของตัวเองยากที่ใครจะเดินตาม
       
        แต่ถ้าจะยกมาคำหนึ่ง ดูเหมือนว่าสมญานาม “พญาอินทรี” ดูจะเป็นคำจำกัดความที่อธิบายความเป็นตัวตนของเขาได้ค่อนข้างจะชัดเจน และเห็นภาพมากที่สุด
       
        'รงค์ วงษ์สวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2475 ที่ตำบลคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท บิดารับราชการเป็นวิศวกร กรมชลประทาน แม่เป็นชาวสวน ชีวิตวัยเด็กอยู่กับยายที่โพธาราม จังหวัดราชบุรี เพราะพ่อต้องออกไปทำงานตามป่าเขา
       
        ความจนทำให้เขาต้องช่วยแม่ทำมาหากินตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนโพธารามวัฒนาเสนี อำเภอโพธาราม ราชบุรี ด้วยการนำทอฟฟี่ที่แม่ทำไปขายที่โรงเรียน ซึ่งแม้จะมาเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ แต่เมื่อถึงเวลาปิดเทอมเขาก็จะต้องกลับไปช่วยแม่หาบแตงโมอยู่เป็นประจำ
       
        การเรียนที่อำนวยศิลป์ รุ่นลมหวน ทำให้ 'รงค์ มีเพื่อนร่วมรุ่น เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล และ ทวี ชูทรัพย์ (อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์)
       
        ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ค่อนข้างจะยากลำบาก ภายหลังการย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกต่ำนี้เองที่ได้กลายเป็นวัตถุดิบและเบ้าหลอมสำคัญต่องานเขียนของ รงค์ ในอนาคตต่อมา
       
        ด้วยความเป็นคนที่สนใจในงานวรรณกรรมมาตั้งแต่เด็ก เพราะต้องอ่านวรรณคดีและหนังสือประเภทอื่นๆ ให้บิดาและยายฟังเสมอๆ ครั้นออกจากอำนวยศิลป์มาเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 'รงค์ จึงได้มีโอกาสนำเอาประสบการณ์ชีวิตต่างๆ เขียนเป็นเรื่องสั้นลงในจุลสารของโรงเรียนและบางส่วนก็ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ต่างๆ
       
        ถือเป็นปฐมบทอย่างไม่เป็นทางการแห่งชีวิตการเป็นนักเขียนของลูกผู้ชายคนนี้
       
        หลังลาออกจากเตรียมอุดม 'รงค์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตของตนเองจากการทำงานที่หลากหลายอาชีพ ทั้งเป็นนายท้ายเรือโยงจากบางบัวทอง นนทบุรี ไปสุพรรณบุรี เคยขึ้นไปอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นคนคุมปางไม้ และเมื่อกลับกรุงเทพฯ ก็ได้แสดงภาพยนตร์ในบทพระรองจากเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย หรือแม้กระทั่งเป็นนายแบบ
       
        ก่อนจะได้รู้จัก ม.ล.ต้อย ชุมสาย ศิลปินทางการถ่ายภาพนู้ดของไทย
       
        'รงค์ ได้เรียนการถ่ายภาพจาก ม.ล.ต้อย และเป็นผู้พาไปรู้จักคนในวงหนังสือพิมพ์ กระทั่งได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ.2497 ต่อมาเริ่มถ่ายภาพที่ชวนสนใจทั้งภาพและการเขียนคำบรรยาย จากนั้นเริ่มเขียนคอลัมน์ “รำพึง-รำพัน” ด้วยนามปากกา “ลำพู” ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมากด้วยลีลา และสำนวนภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแปลกแหวกแนวไปจากคนอื่นๆ
       
        จากนั้นไม่นานทุกคนก็ได้รู้จักกับนักเขียนที่ชื่อ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
       
        ปี พ.ศ.2503 เขาเริ่มจัดพิมพ์งานเขียนของตัวเองออกมาเผยแพร่จากเรื่อง “หนาวผู้หญิง” ที่ชวนช็อกไปกับภาษา “สำนวนเพรียวนม” ตามคำเรียกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนจะมีงานตามออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้ง เถ้าอารมณ์ ไฟอาย บนถนนของความเป็นหนุ่ม เถ้าอารมณ์, เสเพลบอยบันทึก รวมถึงงานเขียนนิวยายอย่าง “สนิมสร้อย”
       
        โดยเขาได้พูดถึงนวนิยายเรื่องนี้ไว้ว่า
        “สนิมสร้อย ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ก่อนเพียงไม่กี่บท จากนั้นก็เขียนขายไอ้ชิว (สุพล เตชะธาดา ทายาทแห่งผดุงศึกษา) ต้นฉบับทีละบท เบิกเงินทีละตอนถ้าให้เขียนรวดเดียวก็คงเขียนไม่จบ ตอนเขียนเรื่องนี้ไปนอนซ่องกะหรี่แถวบางกะปิ (ย่านถนนสุขุมวิท) อยู่เป็นเดือน”
  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503-2506 'รงค์ มีผลงานออกมา 11 เล่มด้วยกัน ก่อนที่ทางสยามรัฐจะส่งให้เขาเดินทางไปเป็นผู้สื่อข่าวประจำสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งเขาก็ได้ใช้ชีวิตที่นั่นอย่างเต็มที่เพื่อทำความรู้จักกับประสบการณ์แปลกใหม่
       
        โดยเฉพาะในโลกของเหล่าฮิปปี้ อันถือเป็นช่วงเวลาที่พญาอินทรีตัวนี้เริ่มติดปีกอย่างแท้จริง
       
        และทำให้เขากลายเป็น 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีเพื่อนหนุ่มในยุคนั้นเกิดขึ้นมาบนโลกของตัวอักษรมากมาย อาทิ ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, เถกิง พันธุ์เถกิงอมร, ประเสริฐ สว่างเกษม (เสียชีวิตแล้ว), ศรีศักดิ์ นพรัตน์ (เสียชีวิตแล้ว), มนัส สัตยารักษ์, ประภัสสร เสวิกุล ฯลฯ
       
        “ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความจริงเราวงเล็บเล่นๆ เป็นวิธีการโปรโมชันแบบอเมริกัน ให้คนถามว่าวงเล็บทำไม ถ้าตราบใดเขายัง keep asking ว่าวงเล็บทำไมแสดงว่าเขายังไม่ลืมเราเป็นเลศกลโฆษณาเท่านั้นเอง ตอนหลังชักจะไปกันใหญ่ ไอ้แต๋ว (สุวรรณี สุคนธา) ก็มาวงเล็บสาว มีบางคนวงเล็บม่าย บางคนวงเล็บโสด พลอยสนุกไปด้วย วุ่นวายกันเปลืองเหล้าชิบหาย”
       
        "ตอนหลังมีคนนึ่งว่าที่วงเล็บหนุ่มนี่หมายถึงลูกเราเขียน- ไอ้บักหำน้อย (หัวเราะ) เลยเอาออกดีกว่า มันสับสนน่ะ”
       
        หลังกลับมาจากอเมริกาถือว่าเป็นยุคเฟื่องของนักเขียนหนุ่มคนนี้เลยก็ว่าได้ โดยเขาออกงานมาหลายต่อหลายเล่ม อาทิ หอมดอกประดวน, ใต้ถุนป่าคอนกรีท (ขายดีมาก จนต้องมีการพิมพ์ซ้ำอีกถึง 2 ครั้ง), หลงกลิ่นกัญชา, อเมริกันตาย, นิราศดิบ, ดอกไม้ดอลล่าร์ ฯ
       
        หลังมีครอบครัว (สมรสกับ ติ๋ม สุมาลี ตระการ ไทย มีบุตรสองคนคื อ วงศ์ดำเลิง กับสเริงรงค์) ช่วงนี้เองดูเหมือนว่า 'รงค์ จะต้องทำงานมากขึ้นกว่าเก่า ทั้งในฐานะของนักเขียนนวนิยาย นักหนังสือพิมพ์ และคอลัมนิสต์ เพราะต้องมีเรื่องของค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีงานที่ออกมามากมาย อาทิ ผู้ดีน้ำครำ, นักเลงโกเมน, ดลใจภุมริน, นาฑีสุดท้ายทับทิมดง, ตาคลี น้ำตาลไม่มีเสียงร้องไห้, สัตหีบ ยังไม่มีลาก่อน ฯลฯ
       
        ปี พ.ศ.2528 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยประกาศเกียรติให้เขาเป็นหนึ่งในจำนวนนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นของไทยในวาระครบรอบร้อยปีเรื่องสั้นไทย ก่อนที่อีกสิบปีต่อมาคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูเกียรติให้ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2538
       
        แต่ถึงแม้จะได้รับการเชิดชู ยกย่อง ซูฮกอย่างไร ความเป็นนักเขียนในมุมมองของเขาก็ไม่เคยเปลี่ยนไปจากคนที่ทำงานหนัก โดยเฉพาะกับการเป็นนักเขียนในประเทศที่มีรายได้ค่าแรงตอบแทนอันน้อยนิดดังที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสารสารไรท์เตอร์ต่อสมญานาม “พญาอินทรี” ตามที่คนส่วนใหญ่เรียกขานว่า...
“เราไม่ได้เป็นคนตั้ง ใครตั้งก็ไม่รู้…เออ-ไอ้ขุน (ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา) เป็นคนตั้งและเรารู้สึกเฉยๆ ฟังแล้วเขินนะ นี่เห็นใช้กันติดปากแล้วเราก็เลยไม่แก้ แต่เราไม่ได้คิดเป็นอย่างนั้น เราเป็นคนธรรมดา เป็นนกพิราบ เคยพูดไว้ตั้งนานเป็นสิบๆ ปีแล้วว่านักเขียนนะเป็นอาร์ต เลเบอร์”
       
        “เป็นคนทำงานทางศิลปะ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรหรอก ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เทวดามาเกิด เป็นคนทำงานชนิดหนึ่งเหมือนกับคนตีเหล็ก เหมือนคนไถนา นักเขียนน่ะทำงานหนักแทบบ้า”
       
        สิ่งที่เสริมคำพูดดังกล่าวของเขา ก็คือ การย้ายครอบครัว ไปอยู่ที่สวนทูนอิน ดอยโป่งแยงแห่งสะเมิง จ.เชียงใหม่ ในช่วงชีวิตกลางคนด้วยเหตุผลของเรื่องค่าใช้จ่ายในเมืองหลวงที่เกินกว่าคนที่ประกอบอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียวอย่างเขาจะรับได้
       
        “ทูนอินมันก็มาจากคาถาของพวกฮิปปี้ (Turn on, Tune in, Drop out) ทูนอินเวลาออกเสียงเป็นภาษาไทย ฟังดูสำเนียงมันออกจะเหนือๆ อยู่เหมือนกัน โดยความหมายก็คือการเอาตัวเข้าไปสู่กระแสธรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมชาติ”
       
        แต่ถึงแม้พญาอินทรีตัวนี้จะบินสูงไปทำรังถึงยอดดอย ทว่าด้วยความเป็นนักเลงเพื่อนนั่นเอง สวนทูนอินแห่งนี้จึงไม่เคยร้าง(จากวงเหล้า)ของบรรดาผู้คนในแวดวงวรรณกรรมหลากหลายรุ่นซึ่งเมื่ออยู่ที่นั่นทุกคนต่างล้วนแล้วแต่คือเพื่อนของเขาทั้งสิ้น
       
        “นิสัยเราเป็นคนที่ขาดเพื่อนไม่ได้ โดยเฉพาะเพื่อนที่เป็นคนหนุ่ม เพราะเราชอบฟังทัศนะใหม่ๆ จากพวกเขา เรายอมรับว่าเป็นขี้เหงา อยู่บ้านคนเดียวไม่ได้ เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว พอแต่งงานทีหนึ่งเพื่อนก็หายไปเพราะเกรงใจ แต่เมื่อชีวิตเข้ารูปเข้ารอยเพื่อนก็กลับมา ถ้ามันไม่กลับเราก็ไปจูงกลับมา”
       
        ตลอดระยะเวลาของการทำงานเขียนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น นวนิยาย เรื่องสั้น ปกิณกะ บทความ และ ฯลฯ ทุกอย่างมีรากฐานมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงของ'รงค์ที่ได้สัมผัสกับชีวิตผู้คนที่ถูกสังคมตีกรอบว่าเป็นคนชั้นสูงในคฤหาสน์หรูหรา รวมทั้งคนชั้นต่ำในสลัมหรือแม้กระทั่งในซ่อง ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา
       
        เพระฉะนั้นมันจึงไม่แปลกอะไรหากงานเขียนโดยส่วนใหญ่ทั้งหลายของ 'รงค์ จะมีทั้งเรื่องของ ผู้ดี+คุณหญิงคุณนาย-กระหรี่, นักการเมือง อัครเศรษฐี-ชาวนา ขอทาน ยาจก, ซิการ์-กัญชา ยาสูบ, บรั่นดี ไวน์-กระแช่ สาโท เหล้าขาว, นม ตูด ที่ถูกเขียนขึ้นอย่างท้าทายด้วยลีลา สำบัด สำนวน การสะกด การใช้ตัวอักษรซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งต่อให้เปิดพจนานุกรมก็หาไม่เจอ
       
        มิใช่เพียงเรื่องของลีลาเท่านั้นที่เป็นไปอย่าง “สวิงสวาย” ที่ฉายภาพให้เห็นอย่างเด่นชัดในความเป็นเอกลักษณ์ตัวตนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ หากแต่มุมมองต่างๆ ของเขาตั้งแต่วันแรกที่เขียนหนังสือกจนถึงวันสุดท้ายล้วนเป็นที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมสมัย ไร้ความเชย และหาได้แก่โบราณคร่ำครึไปตามวัย กระทั่งส่งผลต่ออิทธิพลความคิดของคนอ่านมาโดยตลอด
       
        ในวันนี้แม้นักเขียนพญาอินทรีตัวนี้จะไม่บินอีกแล้ว หากแต่เชื่อได้เลยว่าตัวหนังสือที่เขารังสรรค์ขึ้นมาจะยังคงบินอยู่ในใจของนักอ่าน-นักเขียนบ้านเราไปอีกนาน
       ...
       คำคมของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
       - ระบบการศึกษาล้าหลังและความเฉื่อยชาของรัฐบาล ซึ่งผมอยากพูดว่าเป็นการคุมกำเนิดทางความคิดและปัญญา
       
       - ความโลภมันกระโดดขึ้นไปเกาะอยู่บนหนังตาของทุกคน จนมองไม่เห็นความวอดวายที่ยืนรออยู่อย่างหิวกระหาย
       
       - ช่องว่างระหว่างฐานะของบุคคลย่อมจะมีอยู่เสมอ ไม่ว่าในแห่งหนไหน (เราคิดอย่างนั้น) และเราจึงไม่เป็นทาสแห่งโมหจริตโดยมีปมด้อยเป็นฝ่ายยุยง
       
       - การกังวลมันก็เหมือนกับนั่งอยู่บนเก้าอี้โยก คุณรู้สึกว่ากำลังเคลื่อนไหว แต่มันไม่เคยพาคุณไปถึงไหนได้เลย
       
       - การมองเข้าไปในความหลังก็เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือที่ยังไม่ได้เขียน
       
       - นักเขียนไม่มีสิทธิ์เป็นคนแปลกหน้ากับผู้อ่าน
       
       - บาร์เท็นเดอร์ไม่มีสิทธิ์เป็นคนแปลกหน้ากับคนกินเหล้า
       
       - ความโกรธเป็นลมพัดไฟในตะเกียงความคิดดับ !
       
       - ศัตรูที่มีคุณธรรม มีค่ามากกว่าเพื่อนสับปลับ
       
       - พรุ่งนี้มันเป็นคำแก้ตัวดีที่สุดของคนเกียจคร้าน มันเป็นความหวังของคนที่เดินทางผ่านวันวานมาอย่างสะเพร่า
       
       - เวลา มันหาได้มีสาระมากไปกว่าเป็นเพียงความว่างเปล่าที่ยืนรออยู่อย่างหิวกระหายเพื่อให้ผู้คนได้บรรจุเหตุการณ์ลงในมัน
       
       - เวลามันไม่เคยมีอาวุธไว้ป้องกันตัวเองจากความโหดร้าย
       
       - ความเมตตาเป็นอาวุธเพียงชนิดเดียวในการเข่นฆ่าความจน
       
       - เมื่อเด็กวิ่งไปบนความรื่นเริง นั้นเป็นความบริสุทธิ์ที่ผู้ใหญ่จะต้องซ่อนความละอายไว้ในความอิจฉา
       
       - ความขุ่นหมอง มันเริ่มต้นจากความวังเวงราวกับหัวใจโดนแขวนไว้กับเส้นด้ายเปื่อยในเวิ้งว้างของโพรงอก
       
       - ศัตรูที่ร้ายกาจของคนก็คือคนด้วยกัน
       
       - ความจนกับความจริงใจเป็นมือขวาและมือซ้ายของกันและกัน
       
       - เวลามันเป็นเพียงชะลอมที่วางท้าทายให้ผู้คนเอาความโง่เขลาของตนเติมลงไปแทนน้ำ
       
       - กลางคืนยาวนานเพื่อให้เรามีโอกาสเรียนรู้ถึงวันพรุ่งนี้
       
       - ยากเหลือเกินที่คนเราจะหนีความเหงา มันร้ายยิ่งกว่าเงาหรือเจ้าหนี้
       
       - เวลามันเป็นกับดักที่ขึงขวางไว้ระหว่างการเกิดกับความตาย
       
       - คนเราสูงเท่ากันเสมอบนเตียงนอนและในหลุมศพ
...
       ผลงาน
        2503-หนาวผู้หญิง, เถ้าอารมณ์, ไฟอาย
        2504-สนิมสร้อย, บนถนนของความเป็นหนุ่ม, สนิมกรุงเทพฯ
        2505-ปักเป้ากับจุฬา, บางลำพูสแควร์, คืนรัก
        2506-เสเพลบอยบันทึก, พ่อบ้านหนีเที่ยว
        2511-ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนหนึ่ง, หอมดอกประดวน, นิราศดิบ
        2512-เสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ, หัวใจที่มีตีน, ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนสอง, หลงกลิ่นกัญชา
        2514-น้ำค้างเปื้อนแดด, ไอ้แมลงวันที่รัก, แดง รวี, หนามดอกไม้, ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนสาม เล่ม 1, ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนสาม เล่มจบบริบูรณ์
        2515-00.00 น., ปีนตลิ่ง, ดลใจภุมริน, บ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า
        2516-นักเลงโกเมน, กรุงเทพฯ รจนา, สัตหีบ : ยังไม่มีลาก่อน, ตาคลี : น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้, ชุมทางพลอยแดง (สารคดี), นาฑีสุดท้ายทับทิมดง
        2517-อเมริกันตาย, แม่ม่ายบุษบง
        2518- คึกฤทธิ์แสบสันต์, 23 เรื่องสั้น, ไม่นานเกินรอ, น้ำตาสองเม็ด, ความหิวที่รัก, มาเฟียก้นซอย, ๒๘ ดีกรีเที่ยงวัน บรั่นดีเที่ยงคืน (’รงค์ วงษ์สวรรค์ และ "หำน้อย"), ดอกไม้ในถังขยะ
        2519- จากแชมเพญถึงกัญชา, ขี่ม้าชมดอกไม้, จากโคนต้นไม้ริมคลอง, ถึงป่าคอนกรีท, 2 นาฑีใต้แสงดาวแดง, ปักกิ่ง-กรุงเทพฯ, ซูสีไทเฮา, กัญชาธิปไตย
        2520-ดอกไม้และงูพิษ, ยินโทนิค 28 ดีกรี
        2521-แอลกอฮอลิเดย์, เบื้องข้างพันเอกณรงค์ กิตติขจร, บนหลังหมาแดดสีทอง, ผู้ดีน้ำครำ 1, ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แสบสันต์, แกงส้มผักบุ้ง 22.00น.
        2522-ผู้ดีน้ำครำ 2,
        2525-บักหำน้อย, ซ้ายปลาร้าขวาเนย, สาหร่ายปลายตะเกียบ
        2527-นินทากรุงเทพฯ, บุหลันลบแสงสุรยา-บรูไน, ระบำค้อนเคียว, ลมหายใจสงคราม
        2528-ไสบาบา นักบุญในนรก
        2529-สามเหลี่ยมในวงกลม,
        2531-สารคดีไฉไลคลาสสิค, ครูสีดา
        2535-ผกานุช บุรีรำ
        2536-ดอกไม้ดอลล่าร์, ระบำนกป่า, พูดกับบ้าน, ขุนนางป่า
        2538-2 นาฑีบางลำพู, บูชาครูนักเลง, บาลีนีส์ทัดดอกลั่นทม, พรานล่าอารมณ์ขัน
        2539-คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์
        2540-กินหอมตอมม่วน
        2542-นินทานายกรัฐมนตรี, ลมบาดหิน, นอนบ้านคืนนี้, เมนูบ้านท้ายวัง, เงาของเวลา
        2543-มาเฟีย ก้นซอย, นินทา ฯพณฯ สากกะเบือ (HA - HA)
        2544-อเมริกา -อเมริกู, โคบาลนักเลงปืน, หงา คาราวาน เงา-สีสันของแดด
        2545-มาดเกี้ยว, นักเลงโกเมน เล่ม 1, นักเลงโกเมน เล่ม 2
        2546-นักเลงโกเมน เล่ม 3, ฝนเหล็ก -- ไฟปืน '๓๕ ฝนเหล็ก-ไฟปืน '๓๕, นาฑีสุดท้ายทับทิมดง, 00.00 น., ผู้ดีน้ำครำ
        2547-เทวี-เทวา ศักดินาดอลลาร์ ดารา Hollywood, บักสีอีจำปา
        2548-CASINO ดอกไม้บาป
        ฯลฯ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



* 552000003147803.jpg (53.15 KB, 250x333 - ดู 734 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 16, 2009, 09:18:58 AM โดย นายซาไกทัดดอกฝิ่น » บันทึกการเข้า

ยังจำได้ดี  และคิดถึง..อยู่ทุกวัน...
Re: ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 16, 2009, 02:15:13 PM »

         
       ข้างถนน เชิงสะพาน มัฆวาน ๒๕๔๙  ....


* rong1.jpg (82.27 KB, 444x800 - ดู 849 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 16, 2009, 02:20:09 PM โดย นายซาไกทัดดอกฝิ่น » บันทึกการเข้า

ยังจำได้ดี  และคิดถึง..อยู่ทุกวัน...
Re: ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
« ตอบ #2 เมื่อ: มีนาคม 17, 2009, 06:45:30 PM »

ขอแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของคุณรงค์  ด้วยค่ะ 

นักเขียนดี ๆ จิดใจงาม จากไปอีกท่านเสียแล้ว
บันทึกการเข้า

เพราะหัวใจ(เรียกร้อง ... เราจึงออก)เดินทาง
Re: ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
« ตอบ #3 เมื่อ: มีนาคม 17, 2009, 08:52:16 PM »

         
       ข้างถนน เชิงสะพาน มัฆวาน ๒๕๔๙  ....
ชอบจังโว้ย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 17, 2009, 08:53:50 PM โดย Trekkathon » บันทึกการเข้า

..ผู้อยู่นานเห็นมาก  ผู้ออกเดินทางเห็นมากกว่า..
Re: ในวันที่พญาอินทรีหยุดบิน” คารวะแด่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
« ตอบ #4 เมื่อ: มีนาคม 21, 2009, 07:14:13 PM »

......อาลัย...นักเขียนชั้นปรมาจารย์....
...................ขอกราบคารวะดวงวิญญาณ...ให้สู่สุคติ...
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.032 วินาที กับ 20 คำสั่ง