ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
มีนาคม 29, 2024, 03:46:27 AM
ศิลปวัฒนธรรม [ ปี 1-5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ศิลปวัฒนธรรม (ผู้ดูแล: tooom, bamboo)
| | |-+  น่าน” ไม่(อยาก)เหมือนปาย
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: น่าน” ไม่(อยาก)เหมือนปาย  (อ่าน 3439 ครั้ง)
น่าน” ไม่(อยาก)เหมือนปาย
« เมื่อ: มีนาคม 03, 2009, 10:29:28 AM »

ณ ขณะนี้ เอ่ยขานนามว่า “ปาย” นักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักอำเภอแห่งนี้
       
       ปาย เป็นอำเภอเล็กๆซ่อนตัวอยู่กลางขุนเขา ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปายซ่อนเร้นอยู่นาน
ก่อนจะค่อยๆถูกเผยตัวขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวที่มองเห็นเสน่ห์จากเมืองเล็กๆเมืองนี้ ในเวลานี้เพียงไม่ถึง 10 ปี
นับตั้งแต่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทแบ็คแพ็คเกอร์ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวในปายเป็นพวกแรก
 ก่อนที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะมารู้จักและเที่ยวๆๆกัน จนปายในวันนี้เปลี่ยนโฉมไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
       
       จากเมืองเล็กๆที่มีเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ ถูกแปรสภาพกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ
 มีโรงแรม รีสอร์ทเล็ก-ใหญ่ เกิดขึ้นมากมายเมื่อของใหม่ๆเข้ามาแทนที่ ของเก่าบรรยากาศเก่าๆของปายก็หายไป
 คนต่างถิ่นอพยพย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันมากขึ้น เจ้าถิ่นเดิมต้องถอยร่นออกมาอยู่นอกเมือง
ในความเป็น “ปาย” อันเรืองรองด้วยทรัพย์ทางการท่องเที่ยว ที่เหล่าผู้ประกอบการเก็บเกี่ยวกันอย่างเป็นกอบเป็นกำนั้น
ก็ยังมีความเสื่อม ที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเบื่อหน่าย และเล็งหาที่พักพิงทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ไว้รองรับต่อจากปาย
       
       เมืองใหม่ที่พิสุทธิ์ด้วยธรรมชาติมิแตกต่างจากปายในอดีต ธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งและยังสงบงามตามวิถี และมีเมืองหนึ่ง
ที่ปีนี้สถิติการท่องเที่ยวนับแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมาดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ข้ามหน้าข้ามตาจังหวัดใหญ่ๆในภาคเหนือ นั่นก็คือ “น่าน”
จังหวัดเล็กๆที่มีสโลแกนพูดกันในกลุ่มผู้ไปแอ่วน่านว่า เป็นจังหวัดที่มีไว้สำหรับคนตั้งใจมาเท่านั้น หากไม่ได้ตั้งใจมาจะมาไม่ถึง
 เพราะน่านไม่ใช่เมืองผ่าน แต่เป็นเมืองชายแดนที่ต้องผ่านหนทางอันคดเคี้ยวและภูเขาสูงกว่าจะมาถึง
       
       อาจเพราะเหตุนี้น่านจึงยังคงความเป็นน่านได้นานจนทุกวันนี้ แต่เมื่อน่านเริ่มเปิดตัวสู่โลกภายนอกมากขึ้นต้องต้อนรับแขกมากขึ้น
 ทำให้ชาวน่านและนักท่องเที่ยวที่รักเมืองน่านอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคต น่านอาจจะกลายเป็น “ปายแห่งที่ 2"
 เพราะน่านมีสถานที่ท่องเที่ยวครบรสทั้ง วัด วัง ป่าเขา และวิถีชีวิต และยังมีบรรยากาศหลายอย่างคล้ายคลึงกับปาย

แหล่งท่องเที่ยวของน่านมีมากมาย เช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดที่มีพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีเถาะตามคติความเชื่อของล้านนา
 วัดภูมินทร์ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่าน ด้วยเพราะมีจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อ ด้านธรรมชาติเรื่องการล่องแก่งลำน้ำว้าก็สนุกไม่แพ้ใคร
ที่อุทยานฯภูคายังมีดอกไม้หายากอย่าง ชมพูภูคา ที่หนึ่งปีจะบานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
       
       น่านไม่กลายพันธุ์
       
       การที่น่านเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นนี้ คนน่านเองก็เห็นและตั้งข้อสังเกต พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วง ด้วยเกรงว่า น่านในอนาคตหากไม่มีการวางแผน การจัดการที่ดี อาจจะเจริญรอยตามปายได้ไม่ยาก
       
       สโรช รัตนมาศ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับงานด้านวัฒนธรรมเมืองน่านและเป็นผู้หนึ่งที่แลเห็นความเป็นไปของน่าน ได้กล่าวว่า เมืองน่านนั้นหากเป็นภายในเกาะเมืองอย่าง “หัวแหวนเมืองน่าน” ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเมืองเก่าตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2540 เป็นแห่งที่สองรองจากเกาะรัตนโกสินทร์ และเป็นความภาคภูมิใจของคนน่านเพราะมีเพียงสองแห่งในประเทศไทยเท่านั้น เป็นจุดที่ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะมีหลายหน่วยงานดูแลมีมาตรการคุ้มครองอยู่ วัดวาอารามก็มีกฎหมายของศิลปากรดูแลอยู่
       
       “หากนักท่องเที่ยว เที่ยวในเมือง เขาจะถูกจำกัดโดยบริบทของเมืองเอง เพราะตัวเมืองเล็กและที่พักไม่มาก”สโรชกล่าวถึงการท่องเที่ยวในตัวเมืองน่าน
ส่วนเรื่องความเป็นกังวลว่าน่านจะเปลี่ยนไปจนเหมือนปายนั้น ตรงนี้ สโรช มองว่า ขึ้นอยู่กับความคิดของคนน่านเอง ปายที่เสียหายก็เพราะเกิดจากการเปลี่ยนมือจากผู้ประกอบการท้องถิ่นไปสู่มือนายทุนใหญ่กว่า ชาวน่านต้องพยายามรักษาต้นทุนไว้ได้ให้นานที่สุด คนที่มาเปิดโรงแรมทำรีสอร์ทเราไม่ได้ห้ามไม่ให้ก่อสร้าง แต่ไม่อยากให้เหมือนปาย อย่างสิ่งปลูกสร้างเขาต้องให้เราดูด้วย ถ้าจะสร้างอะไรที่มันมากไปเราก็ต้องจำกัด ต้องดูด้วยว่าสร้างตรงไหนบ้าง
       
       “ในเขตเมืองไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ เพราะครึ่งเมืองก็เป็นสถานที่ราชการยังดูแลทั่วถึง แต่ที่น่าห่วงคือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยเฉพาะอำเภอ “ปัว“ที่มีคนบอกว่าเหมือนปายมากหยั่งกะฝาแฝด มีแม่น้ำมีป่าเขาตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวน 85เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 15 เปอร์เซ็นต์ เหลือเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 5 เปอร์เซ็นต์ดังนั้นตรงนี้เรายังมีอุทยานมาบล็อกไว้อยู่ แต่ก็ยังกลัวว่าพอนายทุนลงไปอะไรก็เกิดขึ้นได้”สโรชกล่าว
ด้านคนน่านโดยกำเนิดอีกคนหนึ่งอย่าง พ.ต.ต.ปพนพัชร์ ใบยา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มเฮาฮักน่าน ที่เน้นช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสในน่าน กล่าวถึงกรณีที่มีคนชอบนำปายกับน่านมาเปรียบเทียบกันว่า ตนเองเคยได้ยินคนน่านเองตั้งคำถามเหมือนกันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เมืองน่านกลายเป็นเหมือนปาย เพราะตอนนี้ปายกลายเป็นธุรกิจไปแล้วความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของปายได้หายไปหลังความเจริญเข้ามาแทนที่
             
       
       
       เข้าใจถิ่น เข้าใจเที่ยว เข้าใจน่าน
       
       ส่วนด้านความคิดเห็นของ สำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน เขามองว่า การที่น่านเป็นเมืองท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะคนน่านจะได้มีอาชีพทำมากขึ้น จะเกิดอาชีพใหม่ขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่ก็ร้องขอนักท่องเที่ยวที่ไปน่านด้วยว่า ให้เรียนรู้ว่าน่านมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เช่น เราเป็นเมืองที่มีชนเผ่าหลายเผ่า มีศิลปหัตถกรรมและสถาปัตยกรรมเก่าแก่อยู่หลายอย่าง
       
       “นักท่องเที่ยวมีส่วนที่จะช่วยเราดำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ ไม่อยากจะให้นักท่องเที่ยวกลายเป็นส่วนหนึ่ง ที่เข้ามาแล้วเข้ามาตั้งเงื่อนไข จนคนน่านต้องเปลี่ยน จะกลายเป็นการทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของเรา”สำรวยแสดงความเห็น
       
       พร้อมกันนี้เขายอมรับว่า “ในแง่ความกลัวการเปลี่ยนแปลงคนน่านมีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยอมรับว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมเปิด จะห้ามไม่ให้ใครไปมาหาสู่คงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่า คนที่มาน่านขอให้มาช่วยแนะนำและรักษาสิ่งที่ทำให้ท่านมาน่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านชอบและปรารถนามาเยือนอยู่แล้ว ไม่ให้เบี่ยงไปในทางลบ”

สำหรับสิ่งที่คนน่านกังวลอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ก็ไม่ต้องรอให้วัวหายแล้วค่อยมาล้อมคอกทีหลัง ในจุดนี้ สโรช ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมได้ กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญตอนนี้อย่างการเข้าวัดภูมินทร์ วัดพระธาตุแช่แห้ง เราก็มีผ้าถุงไว้ให้ผลัดเปลี่ยนสำหรับหญิงที่แต่งการไม่เหมาะสม เช่น นุ่งขาสั้นเข้าวัด เป็นต้น
       
       “คนมาเที่ยวต้องเข้าใจมรดกทางวัฒนธรรม การมาเที่ยวต้องเข้าใจวิถีชีวิตของแต่ละแห่งก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาเที่ยวอย่างขาดข้อมูล ถ้ามีข้อมูลก่อนมาเที่ยวจะช่วยเพิ่มความสนุกให้แก่การมาเที่ยว ชุมชนก็ควรต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง ตรงนี้เราประสานกับผู้ประกอบการที่มีอยู่ ให้ข้อคิดว่าท่านมีต้นทุนทางการท่องเที่ยวที่ได้เปรียบอีกหลายจังหวัดอยู่ ท่านจะรักษาไว้ให้กับลูกหลานหรือว่าท่านต้องการทำกำไรอย่างเดียวแล้วทุกอย่างพินาศในเวลาอันรวดเร็วซึ่งคนน่านเองก็เฝ้ามองเมืองของเราอยู่อย่างใกล้ชิด” สโรชกล่าวแนะ
       
       ความคิดนี้ดูจะสอดคล้องกับความคิดของ สำรวย ที่มองว่า น่านจะไม่เปลี่ยนโฉมไปจากนี้หาก กลุ่มผู้ประกอบการทั้งหลายความจะมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งไม่สะเปะสะปะ
 ความเปลี่ยนแปลงของน่านยุคนี้สภาพแวดล้อมถูกทำลายไปเยอะ อุทยานฯทั้ง 7 แห่งของน่านที่เป็นเป้าหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยว ก็ควรจะมีส่วนร่วมของชุมชน อย่าให้คนมาเที่ยวจนหลงลืมว่าเป็นอุทยานฯที่ต้องพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
       
       “สิ่งที่คนฮักเมืองน่านควรทำ คือ เรื่องการปลูกฝังไม่ให้คนน่านลืมแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง ให้เข้าใจถิ่น เข้าใจที่เข้าใจเที่ยว เท่านี้ก็ไม่ใครมาทำอะไรน่านได้แล้ว”สำรวยกล่าวทิ้งท้าย
       
       น่านในทุกวันนี้ยังขับเคลื่อนต่อไป เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต แม้ว่าสิ่งที่คนน่านหวาดกลัวจะยังไม่เกิดขึ้น แต่หากไร้การป้องกัน การวางแผน และการจัดการที่ถูกทิศทาง เมืองอันสงบงมแห่งนี้ก็อาจจะแปรวิถีไปจากเดิมก็เป็นได้


* 552000002557404.jpg (39.69 KB, 300x451 - ดู 459 ครั้ง.)

* 552000002557401.jpg (27.7 KB, 400x299 - ดู 458 ครั้ง.)

* 552000002557409.jpg (63.11 KB, 300x418 - ดู 454 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ยังจำได้ดี  และคิดถึง..อยู่ทุกวัน...
Re: น่าน” ไม่(อยาก)เหมือนปาย
« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 03, 2009, 05:49:18 PM »

(ไม่อยากให้)น่าน เหมือนปาย
บันทึกการเข้า

หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.019 วินาที กับ 20 คำสั่ง