ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
เมษายน 20, 2024, 05:56:45 AM
ศิลปวัฒนธรรม [ ปี 1-5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ศิลปวัฒนธรรม (ผู้ดูแล: tooom, bamboo)
| | |-+  เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"  (อ่าน 3972 ครั้ง)
เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
« เมื่อ: มกราคม 25, 2009, 09:51:49 PM »

   




        แม้ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" ในวันตรุษจีนนี้ จะไม่ใช่ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง แต่การเกิดสุริยคราสบางส่วน ในช่วงตะวันลับขอบฟ้าก็ไม่มีให้เห็นกันบ่อยนัก หลายคนคงอยากบันทึกภาพเหตุการณ์ทางธรรมชาตินี้ไว้ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้กล้องบันทึกภาพดวงอาทิตย์
       
       ในวันที่ 26 ม.ค.52 ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนปีนี้ มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจอย่าง "สุริยุปราคาบางส่วน" ซึ่งเกิดขึ้นช่วงประมาณ 16.00 น.จนตะวันลับขอบฟ้า สำหรับผู้ที่สนใจบันทึกภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" จึงได้สอบถามถึงวิธีบันทึกภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ปลอดภัยจาก ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งได้ให้คำแนะนำไว้
       
       "ควรมีอุปกรณ์กรองแสง อาทิ แผ่นไมลาร์ (Milar) ซึ่งคล้ายวัสดุห่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้แผ่นฟิล์มเอ็กซ์เรย์ (X-ray) 2 ชั้น เพื่อกรองแสง แต่ก็ต้องทดลองว่า อุปกรณ์กรองแสงเหล่านั้น จะเหมาะสมกับกล้องหรือเปล่า เพราะบางครั้งอาจทำให้ปรับโฟกัสไม่ได้"
       
       สำหรับกล้อมคอมแพ็คอาจจะปลอดภัยกว่า เพราะเราไม่ได้มองดวงอาทิตย์โดยตรงเวลาบันทึกภาพ ซึ่งกล้องอาจจะเสีย แต่ตาเราไม่เป็นอะไร ส่วนกล้องเอสแอลอาร์ (Single-lens reflex: SLR) ซึ่งเวลาถ่าย ต้องมองผ่านเลนส์อาจจะอันตรายหน่อยถ้ากรองแสงไม่ดี ทั้งนี้ก็ควรมีขาตั้ง เพื่อช่วยให้ถ่ายได้ชัด" ดร.ศรันย์กล่าว
       
       รองผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์กล่าวอีกว่า การถ่ายภาพสุริยุปราคาในวันที่ 26 ม.ค.นี้ อาจจะบันทึกได้ง่าย เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนต่ำลงในช่วงเย็น ซึ่งชั้นบรรยากาศช่วยกรองแสงในระดับหนึ่ง พร้อมเล่าว่าประสบการณ์ส่วนตัวในการบันทึกภาพสุริยุปราคาว่า มีเทคนิคค่อนข้างมาก โดยเขาเลือกใช้แผ่นกรองแสงเฉพาะสำหรับบันทึกสุริยุปราคาซึ่งไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย และมีขาตั้งกล้องที่สามารถตามดวงอาทิตย์ได้
       
       สำหรับปรากกการณ์สุริยุปราคาในวันที่ตรุษจีนนี้ เป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่พาดผ่านบริเวณมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย
       
       แต่ท้องฟ้าเหนือประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน โดยเห็นได้ทั่วประเทศแต่เห็นได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดย จ.นราธิวาสเห็นนานที่สุด 54.9 นาที และ จ.เชียงรายเห็นสั้นที่สุด 17 นาที
       
       ทั้งนี้ คราสจะเริ่มเข้าสู่สัมผัสที่ 1 (First contact) เวลา 15.53 น. และสิ้นสุดที่เวลา 17.58 น.แต่วันดังกล่าวตะวันลับขอบฟ้าเวลา 17.56 น.
       
       นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยซึ่งส่งมาให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ระบุถึงการเกิดสุริยุปราคาว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ โลกและดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดเงาพาดลงมาบนโลก 2 ชนิดคือ เงามืด (Umbra) ซึ่งทำให้เกิดบริเวณที่มืดที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ และเงามัว (Penumbra) ซึ่งทำให้เกิดบริเวณที่ไม่มืดมากนักเนื่องจากได้รับแสงบางส่วนจากดวงอาทิตย์
       
       ปกติดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ ประมาณ 1 เดือน จึงมีโอกาสที่ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกเสมอ แต่ไม่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา เพราะระนาบโคจรของดวงจันทร์เอียงประมาณ 5 องศากับระนาบโคจรของโลก ดวงจันทร์จึงมักเคลื่อนไปทางเหนือหรือทางใต้ของเส้นตรงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์และไม่เกิดเงาทอดลงมาบนโลก ซึ่งปกติวงโคจรของดวงจันทร์จะตัดวงโคจรของโลกเพียง 2 จุดตลอดระนาบโคจร และไม่ใช่จุดเดิมทุกครั้ง อีกทั้งเนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเอง การเกิดสุริยุปราคาจึงเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้ง
       
       การเกิดสุริยุปราคาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1.สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามืดพาดลงบนพื้นโลก จึงเห็นดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ 2.สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามัว จึงเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นเสี้ยว และ 3.สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามืดพาดลงบนพื้นโลก แต่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากจนเงามืดทอดยาวไม่ถึงโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์และเห็นเป็นรูปวงแหวน
       
       ส่วนวิธีการชมสุริยุปราคาให้ปลอดภัยนั้น นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ได้ให้ข้อมูลผ่านศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยว่ามี 3 วิธีดังนี้
       
       1.มองดูด้วยตาเปล่าโดยใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) แผ่นกรองแสงจะกรองพลังงานของแสงอาทิตย์ออกไปมากกว่า 99% แสงที่เหลือจึงไม่สามารถทำอันตรายแก่ดวงตาได้ แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ควรเป็นแผ่นกรองแสงที่มีคุณภาพ และถูกสร้างขึ้นเพื่อกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ได้แก่ แผ่นไมลาร์ กระจกเคลือบโลหะ เป็นต้น
       
       "ทั้งนี้จะมีตัวอย่างแจกสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมในงานมหกรรมสุริยุปราคา ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งปัจจุบันมีแว่นตาดูสุริยุปราคาที่ได้มาตรฐานจำหน่ายในหน่วยงานดาราศาสตร์หลายแห่งด้วยกัน เช่น สมาคมดาราศาสตร์ไทย แต่สำหรับในกรณีที่หาซื้อแผ่นกรองแสงอาทิตย์ไม่ได้จริงๆ อาจใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น แผ่นฟิลม์เอกซเรย์ที่มีสีดำเข้มทั้งแผ่นตัดมาซ้อนทับกันอย่างน้อยสองชั้นขึ้นไป หรือใช้หน้ากากเชื่อมเหล็กขนาดเบอร์ 5 เป็นต้น" นอ.ฐากูร ระบุ
       
       2.มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) การดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวบนดวงอาทิตย์ ได้แก่ จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspots) เป็นต้น อย่างไรก็ตามแผ่นกรองแสงที่ใช้จะต้องมีคุณภาพสูง แผ่นกรองแสงที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์มีหลายชนิด เช่น แผ่นกรองแสงไฮโดรเจน-แอลฟา จะช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ แผ่นกรองแสงชนิดไมลาร์เป็นแผ่นโลหะบางๆ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว หรือสีฟ้าอื่น แผ่นกรองแสงชนิดกระจกเคลือบโลหะทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นส้มหรือสีเหลือง เป็นต้น
       
       3.วิธีโปรเจคชั่น ทำได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงอาทิตย์ แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ตา วิธีนี้ช่วยให้สามารถดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ทีละหลายๆ คน ไม่เสียเวลา อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า กล้องและเลนส์ที่นำมาใช้ต้องไม่มีชิ้นส่วนที่ทำด้วยพลาสติก เพราะเลนส์จะรวมแสงจนเกิดความร้อน จนทำให้ชิ้นส่วนละลายได้
       
       ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจทั่วไปสามารถร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ได้ ตามสถานที่จัดกิจกรรมร่วมชมปรากฏการณ์ดังนี้
       
       - อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพมหานคร จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะมีการนำกล้องสำหรับดูดวงอาทิตย์ (solar scope) จำนวน 2 ตัว มาติดตั้ง ณ บริเวณดาดฟ้า ชั้น 8 และเตรียมแว่นตาสำหรับดูดวงอาทิตย์ พร้อมนำทีมวิทยากรของสถาบันฯ ให้ข้อมูล
       
       - ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดให้บริการแก่ผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้จากปรากฏการณ์สุริยุปราคาของจริง โดยมีการตั้งกล้องสำหรับดูดวงอาทิตย์ไว้ให้บริการ ณ ชั้นดาดฟ้า อาคาร 4 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เอกมัย
       
       - ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และสถาบันการศึกษาอีกกว่า 10 สถาบัน จัดงาน “มหกรรมสุริยุปราคา”
       
       ภายในงานมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์กว่า 20 ตัว ซึ่งกล้องแต่ละตัวติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์แตกต่างกัน ทำให้เห็นดวงอาทิตย์ในมุมมองที่แตกต่างกันด้วย นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมให้เยาวชนได้ร่วมทดลองประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองอีกด้วย
       
       - คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมชั้น 6 ตึกคณะวิทยาศาสตร์ (SCB2) หน้าห้องดาราศาสตร์ ซึ่งการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่จะเห็นดวงอาทิตย์โดนบังประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์
       
       - หอดูดาวบัณฑิต จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดกิจกรรมการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วน พร้อมทั้งตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์ไว้เช่นกัน
       
       - ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์ พร้อมฉายลงจอเพื่อร่วมชมพร้อมกัน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 มกราคม 2552 12:30 น.



/////////////// แว่นสำหรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาของลีซา /////////////////////


        สดร. - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทั่วทุกภาคชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552 นี้ระหว่างเวลา 15.30-18.00 น. โดยประมาณ
       
       สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน โดยจะมองเห็นได้ตามเส้นทางที่พาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย และตะวันตกของอินโดนีเซีย ส่วนสุริยุปราคาบางส่วนจะมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามเส้นทางที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ทางตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้ มาดากาสการ์ ออสเตรเลีย อินเดียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินโดนีเซีย
       
       สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน และสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาค โดยแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน ที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 15.53 น. และสิ้นสุดเหตุการณ์ในเวลา 17.58 น. ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุดในภาคใต้ คือ ประมาณ 2 ชั่วโมง 22 นาทีที่จังหวัดนราธิวาส โดยดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 54.9 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์
       
       โดยในวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552 สดร. จะได้นำกล้อง solar scope, กล้องสำหรับดูดวงอาทิตย์จำนวน 2 ตัว ไปติดตั้งพร้อมเหล่าผู้รู้และทีมวิทยากรของสถาบันฯ คอยให้ข้อมูล ณ บริเวณดาดฟ้าชั้น 8 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น สดร. ยังได้เตรียมแว่นตาสำหรับดูดวงอาทิตย์เพื่อชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาพร้อมทั้งของที่ระลึกแจกให้ผู้ที่มาร่วมชมในวันดังกล่าวทุกท่านอีกด้วย

        ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. – ชวนเยาวชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วม “มหกรรมสุริยุปราคา” สังเกตปรากฎการณ์สุริยุปราคาผ่านกล้องดูดวงอาทิตย์ พร้อมรับความรู้เกี่ยวกับคราสจากผู้เชี่ยวชาญ ในวันจันทร์ที่ 26 ม.ค. ที่จุฬาฯ
       
       นาวาอากาศเอก ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.52 ประเทศไทยจะมีโอกาสได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งเป็นช่วงเวลาดีที่ท้องฟ้าเปิด จึงนับเป็นโอกาสที่เหมาะสม ต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้แก่เยาวชน
       
       ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และสถาบันการศึกษาอีกกว่า 10 สถาบัน จึงได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมสุริยุปราคา” ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเวลา 15.00 – 18.00 น. โดยมุ่งหวังให้นักเรียน ครูและผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาผ่านกล้องดูดวงอาทิตย์ที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนและปลอดภัย พร้อมทั้งมีวิทยากรคอยให้ความรู้เรื่องการเกิดสุริยุปราคาแบบต่างๆ อย่างใกล้ชิด
       
       “ภายในงาน ทางสถาบันการศึกษาต่างๆ จะร่วมกันจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์กว่า 20 ตัว โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ กล้องแต่ละตัวจะมีขนาดที่หลากหลาย และมีการติดตั้งแผ่นกรองแสงที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เห็นดวงอาทิตย์ในมุมมองที่แตกต่างกันด้วย เช่น แผ่นกรองแสงอาทิตย์ไฮโดรเจน-แอลฟา จะทำให้เห็นพวยแก๊สสีแดงของดวงอาทิตย์, แผ่นกรองแสงอาทิตย์แคลเซียม-เค จะทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีน้ำเงิน ขณะที่กล้องดูดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่จะทำให้เห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ทั้งนี้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ดังกล่าวนับเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ยาก และมีราคาแพง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ”
       
       “นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกล้องโทรทรรศน์ชุดประกอบที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้องค์ประกอบและหลักการทำงานของกล้อง รวมทั้งยังได้ทดลองประกอบกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองอีกด้วย”
       
       นาวาอากาศเอก ฐากูร กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมสุริยุปราคาครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ซึ่งมุ่งหวังอยากให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การเกิดสุริยุปราคาผ่านปรากฏการณ์จริง ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะทำให้เยาวชนได้เห็นดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิด ได้เห็นพวยก๊าซในดวงอาทิตย์และเข้าใจอย่างแท้จริงว่าดวงอาทิตย์มีองค์ประกอบหลักเป็นก๊าซไฮโดรเจน
       
       อีกทั้งยังได้เห็น จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ซึ่งก็คือพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ ไม่ใช่จุดดับของดวงอาทิตย์อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ ที่สำคัญการรวมตัวกันของครูและเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ตลอดจนสานความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย
       
       อย่างไรก็ดี คณะผู้จัดงานขอเชิญชวนโรงเรียน, สถาบันการศึกษาต่างๆ และประชาชนที่มีความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสุริยุปราคาล่วงหน้า เพื่อทางคณะผู้จัดงานจะได้จัดเตรียมแว่นตาสำหรับดูสุริยุปราคาอย่างครบถ้วน และขอสงวนสิทธิ์ให้แก่ผู้ลงทะเบียนเท่านั้น (มีจำนวนจำกัด)
       
       ส่วนสถาบันใดที่นำกล้องโทรทรรศน์เข้าร่วมจัดงาน ทางทีมงานจะจัดเตรียมแผ่นกรองแสงอาทิตย์และมอบเกียรติบัตรให้ในฐานะผู้ร่วมจัดงานด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบตอบรับที่ www.lesaproject.com และส่งกลับมาที่โทรสาร.02-993-6629 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณกรรณิการ์:087-9206630, ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461-1462
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2009, 11:26:21 PM โดย กระโจมไฟ » บันทึกการเข้า

รักชาติยอมสละแม้ ชีวี รักเกียรติจงเจตน์พลี ชีพได้ รักราชมุ่งภักดี รองบาท
"ยืนด้วยกาย ไม่ได้ถูกบังคับ ยืนด้วยใจ ไม่ได้ถูกเงินซื้อ"
เราจะขอปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต
Re: เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 25, 2009, 09:53:50 PM »

ปีนี้มี "สุริยุปราคา" นานที่สุดในศตวรรษ แต่ไทยเห็นแค่บางส่วน

ปีนี้เกิดสุริยคราส 2 ครั้ง รับปีดาราศาสตร์สากล โดยสุริยคราสครั้งสุดท้ายของปี เป็นสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษ โดยอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เห็นเป็นคราสเต็มดวง แต่ไทยเห็นเป็นเพียงคราสบางส่วน และที่เชียงรายเห็นการบดบังมากที่สุดและยาวนานที่สุด
       
       กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดเวทีสัมมนา "คุยกัน...ฉันวิทย์" เรื่อง "สุริยุปราคาในเมืองไทย" เมื่อวันที่ 9 ม.ค.52 โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้เข้าร่วมฟังเสวนาดังกล่าวที่ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และนายอารี สวัสดี กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ร่วมเสวนา
       
       ทั้งนี้ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรมกล่าวว่า ระหว่างปี 2552-2553 ไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วนทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 26 ม.ค.52, วันที่ 22 ก.ค.52 และ 15 ม.ค.53 โดยทาง สดร.จะจัดกิจกรรม รับปรากฏการณ์สุริยุปราคาทั้งสองครั้งในปี 2552 นี้ ทั้งนี้สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือ เมื่อ 24 ต.ค.2538 ที่ผ่านมา และจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ในเมืองไทยอีกครั้งปี 2613
       
       อย่างไรก็ดี การชมสุริยุปราคาบางส่วนที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถชมได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องอาศัยอุปกรณ์กรองแสง แว่นตาสำหรับชมสุริยุปราคาโดยเฉพาะหรือมองผ่านฉากรับ ห้ามมองโดยตาเปล่าหรือมองผ่านกล้องโทรทรรศน์เด็ดขาด เนื่องจากทำให้ตาบอดได้ โดยเฉพาะการมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะทำให้ตาบอดได้ทันที
       
       ทางด้าน ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา ได้ถึงเล่าประสบการณ์การชมสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อ 11 ส.ค.2551 ที่ไซบีเรีย และเปิดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งก่อนคราสบังเต็มดวงเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร (diamond ring effect) ที่แสงสุดท้ายลอดผ่านก่อนที่จะมืดสนิท แล้วจะเห็นชั้นโคโรนาของอาทิตย์ จากนั้นเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชรอีกครั้งเมื่อคราสเริ่มออก ทั้งนี้เขาตั้งปณิธานว่าจะได้อยู่ใต้เงาจันทร์ในปรากฏการณ์สุริยุปราคาให้ครบ 1 ชั่วโมง โดยตอนนี้ได้อยู่ใต้เงาจันทร์แล้ว 15 นาที
       
       "แม้ดวงจันทร์จะบังไปแล้ว 99% แต่แสงของดวงอาทิตย์ก็ยังสว่างมาก และยังไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบดบังสนิทแล้วจะมืดลงทันทีและจะเห็นชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์คือชั้นโคโรนา" ดร.ศรันย์ระบุ
       
       สำหรับ สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ดร.ศรัยน์กล่าวว่า เป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวนที่มีแนวคราสพาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย และตะวันตกของอินโดนีเซีย แต่สำหรับไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน โดยจะเห็นได้ทุกภูมิภาคแต่เห็นได้ในระยะเวลายาวนานต่างกัน ซึ่งจังหวัดในภาคใต้จะเห็นปรากฏการณ์ยาวนานกว่าจังหวัดในภาคเหนือ โดยนราธิวาสเห็นยาวนานที่สุด 54.9 นาที ส่วนเชียงรายเห็นสั้นที่สุดคือ 17 นาที
       
       ทั้งนี้ดวงจันทร์จะเข้าสู่สัมผัสที่ 1 (First Contact) หรือจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เข้าบดบังดวงอาทิตย์เวลา 15.53 น. และสิ้นสุดที่ 17.58 น. แต่ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าตั้งแต่เวลา 17.56 น. จึงไม่ได้เห็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุด
       
       ส่วนสุริยุปราคาในวันที่ 22 ก.ค.52 นั้น ดร.ศรันย์ให้ข้อมูลว่า เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ตามแนวคราสพาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่นและมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ส่วนไทย อินโดนีเซีย มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้และเอเชียตะวันออกทั้งหมด จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน โดยดวงจันทร์เริ่มสัมผัสที่ 1 เวลา 07.06 น.และสิ้นสุดที่เวลา 09.08 น. โดยภาคเหนือจะเห็นได้นานที่สุดในจังหวัดเชียงราย 2 ชั่วโมง 12 นาที และดวงอาทิตย์บดบังมากที่สุด 69% ของพื้นที่ดวงอาทิตย์
       
       สุริยุปราคาซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งที่ 2 ของปีนี้เป็นสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และอยู่ในชุดซารอส (Saros) ที่ 136 ซึ่งเป็นชุดซารอสที่เกิดสุริยุปราคายาวนานที่สุด โดยซารอสหมายถึงชุดของการคราสในทุกๆ 18 ปี ทั้งนี้โดยเฉลี่ยโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งเดิมทุกๆ 18 ปี ดังนั้นคราสที่เกิดขึ้นทุกๆ 18 ปีจะมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งเวลาที่เกิด รูปแบบและระยะเวลาของการเกิดคราส ส่วนสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 เห็นได้ในเมืองไทยเมื่อปี 2498 โดยเห็นคราสเต็มดวงยาวนานถึงราว 7 นาที ซึ่งตามทฤษฎีเกิดคราสเต็มดวงยาวนานที่สุดได้ 7.31 นาที
       
       ทางด้านนายอารีกล่าวว่า ในวันตรุษจีนที่ปีนี้เราจะได้เห็นสุริยุปราคาประมาณ 5 โมงเย็นเมื่อหันไปดูทางทิศตะวันตก แต่เหตุการณ์สุริยปุราคาครั้งสำคัญของไทยคือ สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2411 ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณการเกิดสุริยปุราคาและตำแหน่งที่คราสพาดผ่านได้อย่างแม่นยำ โดยทรงสั่งตำราจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและอังกฤษเพื่อทรงศึกษา
       
       พร้อมกันนี้นายอารีได้สาธิตลักษณะคราสที่จะเกิดขึ้นใน 2 ครั้งของปีนี้ด้วย โดยระบุว่าไทยจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งแล้วตกลับขอบฟ้าก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์ โดยสุริยุปราคาในวันที่ 26 ม.ค.นี้เป็นสุริยุปราคาวงแหวนซึ่งเราจะไม่ได้เห็นชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์
       
       ขณะที่ ดร.ศรันย์ได้เสริมว่า การคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาคำนวณได้ไม่ยาก คำนวณด้วยชุดซารอสก็ระบุได้แล้วว่าเมื่อไหร่ หรือใช้หลักทางโหราศาสตร์คำนวณก็ได้ แต่สิ่งที่ยากคือการคำนวณว่าจะเกิดที่ไหน ซึ่งต้องรู้เรื่องเวลาและแผนที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงคำนวณได้แม่นยำว่าจะเกิดสุริยุปราคาที่ไหนและเมื่อไหร่ ทั้งที่ในอดีตไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านัก
       
       สำหรับวันที่ 26 ม.ค.52 ซึ่งจะเกิดสุริยุปราคราบางส่วนนั้น ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จะได้จัดแถลงข่าวถึงปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy 2009: IYA 2009) ซึ่งองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Uniion: IAU) ประกาศขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 400 ปีที่กาลิเลโอส่องกล้องโทรทรรศน์ขึ้นไปสำรวจดวงดาวและท้องฟ้า

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2009, 11:10:28 PM โดย กระโจมไฟ » บันทึกการเข้า

รักชาติยอมสละแม้ ชีวี รักเกียรติจงเจตน์พลี ชีพได้ รักราชมุ่งภักดี รองบาท
"ยืนด้วยกาย ไม่ได้ถูกบังคับ ยืนด้วยใจ ไม่ได้ถูกเงินซื้อ"
เราจะขอปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.026 วินาที กับ 20 คำสั่ง