ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
มีนาคม 29, 2024, 07:14:12 AM

หัวใจเดินทาง [ ปี 1- 5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  หัวใจเดินทาง
| | |-+  อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า  (อ่าน 3986 ครั้ง)
นายซาไกทัดดอกฝิ่น
สมาชิกตลอดชาติ
นักโพสต์มือวางอันดับ 1
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2148


ข้า..แผ่นดินไทย


อีเมล์
อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า
« เมื่อ: กันยายน 30, 2008, 03:46:24 PM »

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 กันยายน 2551 16:17 น.
แม้ว่าขณะนี้เรื่องของการเปิดสัมปทานให้เอกชนเช่าพื้นที่สร้างสิ่งปลูกสร้างภายในอุทยานแห่งชาติ จะถูกระงับไปชั่วคราว เพราะทานต่อกระแสคัดค้านของสังคมไม่ไหว แต่กระนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกรมอุทยานก็ยังมีความพยายามที่จะเดินหน้าต่อด้วยการหาเหตุทำประชาพิจารณ์ ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าอาจเป็นการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบมาพากล
       
       ทำให้ผู้ที่คัดค้านต่อเรื่องนี้ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ด้วยเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแนวคิดอุบาทว์ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายธรรมชาติเช่นนี้จะหวนกลับมาอีกเมื่อไหร่ ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นสอดส่อง อย่าปล่อยให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมรดกของทุกคนในชาติ
       
       สิ่งหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งและป้องกันมิให้ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาสร้างสิ่งที่เรียกว่าความสะดวกสบายบนผืนป่าได้อีก คือ เราต้องร่วมมือช่วยกันหาทางออก ไม่ต้องรอให้วัวหายแล้วล้อมคอก แต่ล้อมคอกไว้กันไม่ให้วัวออกจะดีกว่า
       
       แนวคิดหนึ่งที่มีหลายๆคนนำเสนอก็คือในเรื่องของอุทยานแห่งชาติต้นแบบหรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่าง ซึ่งคัดสรรอุทยานแห่งชาติที่มีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพัฒนาอุทยานฯอื่นๆ
โดย วินิจ รังผึ้ง ได้นำเสนอแนวคิดนี้ ผ่านคอลัมน์ถนนคนเดินทาง หน้าท่องเที่ยว นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 กันยายน 2551 สรุปความได้ว่า เรื่องการปรับมาตรฐานการบริการของอุทยานแห่งชาติก่อนที่จะยกไปให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานผูกขาดระยะยาว
       
       ซึ่งทางกรมอุทยานฯน่าจะลองทำโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบ หรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่างขึ้นมา โดยอาจจะคัดเลือกอุทยานแห่งชาติยอดนิยมสัก 3 แห่งมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยเลือกอุทยานแห่งชาติในลักษณะต่างๆ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกสักแห่งอาจจะเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันก็ได้
       
       จากนั้นลองทุ่มเทสรรพกำลังของนักวิชาการอุทยานฯ รวมทั้งผู้บริหารของกรมฯ ออกแบบอุทยานแห่งชาติในฝันขึ้นมา แล้วทุ่มเทงบประมาณลงไปเพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในเรื่องศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พัก ค่ายพักเยาวชน ลานกางเต็นท์ ร้านอาหารมาตรฐานไม่ใช่ร้านขายเหล้าขายเบียร์อย่างที่เป็นอยู่ในบางอุทยานฯ
       
       จัดระบบดูแลความปลอดภัยและมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวยามฉุกเฉิน รวมทั้งบริการกิจกรรมนำเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ เช่นมัคคุเทศก์นำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นำทางดูนก ล่องแก่ง จักรยานเสือภูเขา
       
       โดยมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารและให้บริการได้ทั้งกับนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ตลอดจนทำระบบการสื่อสารการสั่งจองบริการให้สะดวกสบายได้จากทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเหมือนเช่นอุทยานแห่งชาติระดับสากล
       
       เมื่อพัฒนาอุทยานต้นแบบนำร่องได้มาตรฐานเช่นนี้แล้ว จะมีการปรับราคาค่าธรรมเนียม ค่าบริการให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้หรือเป็นรายได้นำไปปรับปรุงมาตรฐานบริการในส่วนอื่นๆของอุทยานฯ ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ
หากโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบนำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงอุทยานแห่งชาติอื่นๆให้มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานอุทยานฯยอดนิยมทีเดียว 10 แห่งโดยมีระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งหากมีความผิดพลาด มีความล้มเหลวเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเยียวยาแก้ไข
       
       สำหรับแนวคิดนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังมิอาจทราบได้ เพราะต้องมีฝ่ายรับสนองตอบต่อแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน และถ้าหากมองถึงเรื่องอุทยานต้นแบบแล้ว ก็ใช่ว่าอุทยานในบ้านเราจะไม่มี เพราะคนอุทยานส่วนหนึ่งต่างก็ล้วนใส่ใจพัฒนาอุทยานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
       
       พูนสถิตย์ วงสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน ซึ่งในปีนี้อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องอุทยานนำร่องและการพัฒนาอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ว่า
       
       สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อุทยานดอยภูคาใส่ใจอยู่เป็นนิจ คือ เรื่องของการรักษาธรรมชาติดั้งเดิมไว้ แม้ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ เราก็จะพยายามให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เราใช้วัสดุที่เป็นของในท้องถิ่น ไม่นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
       
       เรื่องของสาธารณสุขเราใช้เกณฑ์ของกรมอนามัยเป็นหลัก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะที่ดอยภูคามีพืชที่สามารถพบได้เพียงแห่งเดียวของโลกอยู่หลายชนิดด้วยกัน นักท่องเที่ยวจะได้ดูความหลากหลายทางชีวภาพ ดูดาว ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 80 กิโลเมตร


* 551000012435301.jpg (41.67 KB, 350x263 - ดู 481 ครั้ง.)

* 551000012435303.jpg (35.37 KB, 350x201 - ดู 485 ครั้ง.)

* 551000012435302.jpg (69.27 KB, 250x334 - ดู 502 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ยังจำได้ดี  และคิดถึง..อยู่ทุกวัน...
นายซาไกทัดดอกฝิ่น
สมาชิกตลอดชาติ
นักโพสต์มือวางอันดับ 1
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2148


ข้า..แผ่นดินไทย


อีเมล์
Re: อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า
« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 30, 2008, 04:04:30 PM »

ผมคงไม่สามารถบอกว่าเราเป็นอุทยานต้นแบบ แต่เราพัฒนาเรื่อยๆมากกว่า อย่างเรื่องเช่าอุทยานทำสัมปทานที่มีกระแสข่าว ก็คงต้องค่อยๆศึกษาผลกระทบและการจัดการว่ามีมากน้อยเพียงใด ที่นี่จะเน้นส่วนร่วมของชุมชนให้มีส่วนร่วม มีกระบวนการตั้งแต่เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของอุทยาน ให้คำแนะนำทิศทางการเคลื่อนไหวของอุทยานแห่งชาติ โดยส่วนตัวไม่ว่าจะทำอะไรก็อยากให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ อุทยานที่ดีต้องในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์"พูนสถิตย์กล่าว
       
       ซึ่งสอดคล้องกับทางด้านของ อภิชา อยู่สมบูรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคกลาง
       
       และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังเป็น1ใน10 อุทยานแห่งชาติที่มีชื่อติดโผ 10 อุทยาน ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทาน ได้กล่าวว่า แหล่งธรรมชาติในแต่ละที่ก็คงมีความสวยงามแตกต่างกันไป ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ แต่อยู่ที่การบริการจัดการของแต่ละแห่งมากกว่า
       
       "ที่แก่งกระจานเราเน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ ถ้าเอาเรื่องความยิ่งใหญ่ ความสวยงามของงบประมาณเข้ามาเป็นสำคัญอุทยานแห่งเล็กๆก็หมดกำลังใจ แต่เราต้องการสอนว่าบุคลากรมีจิตวิญญาณการเป็นคนบริการอย่างไร และต้องอาศัยความร่วมมือของนักท่องเที่ยว เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องการให้คนที่มาเที่ยวเกิดความสุข อัธยาศัยไมตรีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราเน้น"อภิชากล่าว
       
       ส่วนเรื่องด้านการบริการอื่นๆอย่างเรื่องขยะ เรื่องการกางเต็นท์ เขามองว่าเป็นเรื่องจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวมาเพราะใจรักธรรมชาติ ไม่ต้องเอ่ยอะไรนักท่องเที่ยวจะลงมือทำเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็เจอแต่นักท่องเที่ยวที่ดีทำให้แก่งกระจานมีมนต์เสน่ห์ตรงนี้
       
       "เราไม่ได้ทำงานเพื่อหวังผลกำไร ทำงานหนักหรือทำงานน้อยก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ต้องทำให้คนของเรามีใจทำงาน"อภิชากล่าว
       
       เมื่อถามถึงความสุขที่จะได้รับจากการเข้าป่าท่องเที่ยวตามอุทยานต่างๆอะไรที่นักท่องเที่ยวเรียกว่าเป็นความสุขที่แท้จริง อภิชากล่าวว่า การเข้าป่าสามารถสัมผัสความสุขได้ สามทาง คือ ทางสายตา สามารถสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ สัมผัสที่สองทางร่างกาย ความเย็นของธรรมชาติ สัมผัสที่สาม คือ ทางเสียง ไม่มีเสียงอะไรที่รบกวน นอนใกล้น้ำตกหลับสนิทมีความสุข แตกต่างจากน้ำไหลจากก๊อก ความรื่นรมย์เห็นนกบินตามธรรมชาติ
       
       และหากพูดเรื่องแนวคิดอุทยานต้นแบบ เขาก็เชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสามารถเป็นต้นแบบได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าขณะนี้อุทยานแห่งชาติก็กำลังพัฒนาการเป็นอุทยานนำร่องอยู่ สองเรื่อง คือ ด้านการป้องกันเรามีระบบการลาดตระเวนที่เป็นมาตรฐาน
ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ไปบรรยายเรื่องนี้ให้กับอุทยานทั่วประเทศมาแล้ว 8 ครั้ง ในเรื่องการวางระบบการป้องกัน สอง เรื่องงานวิชาการ การบริหารจัดการพื้นที่ มันสมองของการจัดการต้องดูว่าจุดไหนเปิดได้กระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนถ้าเปิดแล้วได้กำไรแค่ปีสองปีแรก แต่พอเข้าปีที่สามนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ แต่ธรรมชาติเสียหาย สุดท้ายมันก็ไร้ความหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร
       
       "เพราะจุดประสงค์ของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ คือ การรักษาสภาพธรรมชาติให้ยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช้แค่รุ่นเราแต่เลยไปถึงรุ่นลูกหลาน"อภิชากล่าวทิ้งท้าย
       
       ทางด้าน บัญชา ประเสริฐศรี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดีเด่น ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
       
       สิ่งหนึ่งที่ทำให้อุทยานแห่งชาติผาแต้มได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นเพราะ เราเสนอเรื่องการจัดการแหล่งท่องเที่ยวการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเรื่องการดูแลแผนนำร่อง ทำแผนการรองรับนักท่องเที่ยวของอุทยานให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆจะแก้ไขอย่างไร
"ต้องรู้จักการวางแผนการดูแลความปลอดภัย การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ ททท. จังหวัด อบจ. ต้องร่วมมือกันการจัดการบริหารที่ดีต้องเริ่มบุคลากร ทรัพยากร สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ให้มีกำลังใจทำงาน การให้บริการแหล่งข้อมูลต่างๆ น้ำตก ดอกไม้ป่า"บัญชากล่าวและดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทั้งสามคนเน้นและเห็นพ้องต้องกันคือเรื่องของการพัฒนาคนนั่นเอง
       
       บัญชายังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ตอนนี้ในส่วนของกรมอุทยานเองได้นำอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็น 1ในอุทยานนำร่องของไทย เพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดการของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ โดยมีนโยบายว่าต้องได้มาตรฐานสากล ซึ่งอุทยานนำร่องที่ได้รับการคัดเลือกมีด้วยกันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติสิมิลัน เป็นต้น
       
       ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทิศทางการพัฒนาอุทยานนำร่องของกรมอุทยาน ที่มีขึ้นนี้จะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ซ้ำรอยกรณีการเปิดสัมปทานเช่าอุทยานในเอกชนอีก
      หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการแตกประเด็นออกมาจากกรณีกรมอุทยานฯ มีความพยายามที่จะเปิดให้เอกชนเข้าไปสัมปทานทำธุรกิจในพื้นที่ 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดัง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ห้วยน้ำดัง, ดอยอินทนนท์, ดอยสุเทพ-ปุย, ดอยผ้าห่มปก, ภูกระดึง, แก่งกระจาน, เอราวัณ, หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ซึ่งล่าสุด ทาง ทส. ได้ถอนเรื่องออกจากมติครม. เนื่องจากมีกระแสต่อต้านและคัดค้านจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจเพราะในอนาคตอาจจะมีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้
       
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
       เปิดเอกชนเช่าอุทยานฯ:คนเล็กรักษ์ป่า คนโตขายป่า/ปิ่น บุตรี
       ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร/ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 
       โรงแรมในอุทยานแห่งชาติ/เสรี เวชชบุษกร ประธานชมรมนักนิยมธรรมชาติ   
       จับตาเปิดเช่าอุทยานฯ ฤาป่าไม้-ทะเลไทยจะฉิบหาย! ! !
       นักวิชาการค้านกระทรวงทรัพยากรฯ ดึงเอกชนขยี้10อุทยานแห่งชาติ   
       เปิดอุทยานฯสัมปทานมรดกของชาติ/วินิจ รังผึ้ง 
       เปิดอุทยานฯสัมปทานมรดกของชาติ 2 /วินิจ รังผึ้ง 
       อุทยานฯอ้างเอกชนเช่าพื้นที่ ไม่ล้ำเขตอนุรักษ์ 
       ให้เอกชนเช่าอุทยานฯ:ขายฝัน ขายท่องเที่ยว หรือขายป่า???/ปิ่น บุตรี 
       กรมอุทยานโว เอกชนสนเช่าอุทยานนับ100ราย 
         ตามไปอ่านได้ที่นี่ครับ
 http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9510000115364
             


* 551000012435305.jpg (62.84 KB, 350x242 - ดู 476 ครั้ง.)

* 551000012435306.jpg (46.54 KB, 350x204 - ดู 445 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

ยังจำได้ดี  และคิดถึง..อยู่ทุกวัน...
G-girl
บุคคลทั่วไป
Re: อุทยานต้นแบบ ความยั่งยืนที่ไม่ต้องเช่า
« ตอบ #2 เมื่อ: ตุลาคม 01, 2008, 11:39:46 AM »

ขอนำบทความนี้จากเว็ปทะเลไทยมาฝากค่ะ อ่านแล้วชอบ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

อุทยานนี้ใครจอง ?

          ผมประยุกต์ชื่อหนังสือแปล “แผ่นดินนี้เราจอง” ของคุณเทศภักดิ์ นิยมเหตุ มาใช้เป็นชื่อเรื่อง เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ที่มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่อง กรมอุทยานแห่งชาติกำลังมีแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 10 แห่งเป็นการนำร่อง โดยให้เข้ามาดำเนินการโรงแรมและที่พักในเขตพื้นที่บริการ เป็นระยะเวลา 5-30 ปี รวมทั้งการให้บริการด้านการท่องเที่ยว โดยกำหนดค่าเช่าพื้นที่ ตารางเมตรละ 30,000 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน (ข่าวจาก “ผู้จัดการรายวัน”)

          ฟังแค่นี้ นักนิยมไพรหลายท่านคงเนื้อเต้น อยากไปกางเต็นท์หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องใจเย็นครับ ผมอยากให้สังเกต key word ได้แก่ “ค่าเช่าพื้นที่” “ระยะเวลา” “นำร่อง” และ “พื้นที่บริการ”

          ผมขอเริ่มจาก “ค่าเช่าพื้นที่” เมื่อดูจากจำนวนเงิน โอ้โฮ อุทยานได้เงินเยอะเลยนะเนี่ย เงินก็เข้าหลวง มองมุมหนึ่งน่าจะดี แต่ผมขอมองอีกมุม ในมุมที่ว่า อุทยานถูกประกาศขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ เป็นแหล่งสงวนทางธรรมชาติ เป็นแหล่งศึกษาวิจัย และเป็นแหล่งนันทนาการ

          แม้การท่องเที่ยวจะสำคัญ แต่ความสำคัญของเจตนาในการเปิดอุทยาน จัดอยู่ในลำดับสาม นอกจากนี้ นันทนาการมิใช่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุทยานไม่ได้ถูกประกาศมาเพื่อหารายได้เข้ารัฐ หรือเพื่อสนับสนุนให้เอกชนเปิดโรงแรมได้เยอะ ๆ

          ผมเห็นด้วยสำหรับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อุทยานเปิดให้เอกชนเข้าไปประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น ดำน้ำ เดินป่า ล่องแก่ง ขี่จักรยาน หรือแม้กระทั่งร้านอาหารหรือร้านของที่ระลึก เพราะกิจกรรมเหล่านั้นช่วยพัฒนาเทคนิคในการท่องเที่ยวของบ้านเรา ร้านอาหารหรือร้านกาแฟเล็ก ๆ ช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้ ยังหมายถึงกิจกรรมที่เอกชนทำได้ดีกว่าอุทยาน เช่น ดูแลบ้านพักให้สะอาด

          เรามาถึง Key Word หมายเลขสอง “ระยะเวลา” ตรงนี้ต้องตาไม่กระพริบ ของเดิมเปิดให้ทำสัญญา 1-3 ปี ของใหม่มีระยะเวลา 5-30 ปี หมายความว่า เอกชนไม่ได้เข้ามาเพียงแค่ดูแลบ้านพักของอุทยาน แต่เป็นการสร้างรีสอร์ตหรือที่พักตามแบบของเอกชน มีการลงทุนสูง เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว

          ลองคิดดูเล่น ๆ หากบ้านพักไม่สะอาด ปีหน้าเราก็ไม่จ้างเอกชนรายนั้นมาทำต่อ หากล่องแก่งแล้วเกิดอันตราย เราก็ริบใบอนุญาตจากผู้ประกอบได้ แต่ถ้าเป็นรีสอร์ตก่อปัญหา ทำให้ปะการังตาย เราริบใบอนุญาต ฮ่า ๆ แล้วเค้าจะออกไปเหรอครับ สัญญา 30 ปี ลงทุนไปตั้งเยอะแล้ว เค้าก็ต้องฟ้อง ระหว่างเรื่องอยู่ในศาล รีสอร์ตก็จะดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้น ศาลท่านก็คงต้องปวดหัวเป็นพิเศษ เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมละเอียดอ่อน เช่น คุณภาพน้ำที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง น้ำเสียในที่นี้ไม่ใช่เน่าเหม็นมองเห็นได้ ต้องอาศัยข้อมูลพร้อมคำอธิบายจากนักวิทยาศาสตร์อีกยืดยาว ระหว่างฟ้อง กว่าจะเสร็จคดี ห้าปีสิบปี พอดีปะการังตายเรียบ รีสอร์ตจะย้ายหรือไม่ย้าย ก็ไม่มีความหมายแล้วครับ

          นอกจากนี้ ใครจะเป็นผู้บอกว่า ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว รอให้ปะการังตายก่อนค่อยบอกจากที่ตาเห็น ? ปะการังทั้งทะเลไทยพินาศสิ้นก็เพราะเหตุนี้ และเมื่อมีปัญหา เราจะไปตามหาใครมารับผิดชอบ เพราะหัวหน้าอุทยานย้ายกันแทบทุกปี (บางคนอยู่เพียงไม่กี่เดือนหรือเพียงไม่กี่วันด้วยซ้ำ) อธิบดีก็ย้าย ท่านปลัดก็ย้าย ท่านรัฐมนตรีก็เปลี่ยนหน้าตลอด แต่รีสอร์ตยังคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ  

          สำหรับบางกระแสที่บอกว่า เมืองนอกเค้าก็ทำกัน ผมยอมรับว่าใช่ครับ แต่มันต่างกันจ้ะ Great Barrier Reef ในออสเตรเลียมีเกาะร่วมสามพัน เปิดให้เอกชนทำรีสอร์ตแค่ไม่ถึงสิบ แต่สิมิลันมีหาดทรายขาวยาว มีที่ราบมีน้ำพอให้คนพักได้ ทั้งหมด 3 แห่ง เปิดเป็นพื้นที่บริการ 2 แห่ง มันจะเหมือนกันได้ไงเอ่ย

          มันยิ่งไม่เหมือนกัน เมื่อนำคำว่า “นำร่อง” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะนำร่องหรือพื้นที่ทดลอง ควรเป็นพื้นที่ซึ่งหากเกิดปัญหาแล้ว เรายังพอรับได้ เช่น อุทยานสิรินาถ (ภูเก็ต) อุทยานขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (นครศรีธรรมราช) แต่เราดันนำสิมิลันและสุรินทร์ สองเพชรน้ำเอกของทะเลไทย มาเป็นอุทยานนำร่อง เหมือนกับเราจะแช่น้ำในอ่าง แทนที่จะเอามือแตะดูว่าร้อนหรือไม่ เราดันจุ่มหัวลงไปเลย เฮ้ย...ร้อน ! ถึงตอนนั้นก็ตาถลนแล้วครับ

          ผมยังอยากบอกต่อไปว่า ในทางกลับกัน ในต่างประเทศมีการรื้อรีสอร์ตออกจากพื้นที่ด้วยซ้ำ ไม่ต้องดูไกล เอาแค่มาเลเซียนี่แหละ เค้าสั่งให้รื้อรีสอร์ต 5-6 แห่ง ออกจากเกาะสิปาดัน เพราะที่นั่นเป็นแหล่งดำน้ำสุดยอด ความสบายของนักท่องเที่ยวไม่สำคัญเท่าธรรมชาติ

          คำว่า “เหมือนกัน” จึงอาจ “ต่างกัน” โดยสิ้นเชิง เมื่อเราพิจารณารายละเอียด โดยใช้ Key Word คำสุดท้าย “พื้นที่บริการ” หมายถึงเขตที่อุทยานกำหนดให้เป็นพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว เช่น กางเต็นท์ โรงอาหาร ฯลฯ และพื้นที่ส่วนนี้แหละที่จะถูกนำมาให้เอกชนเช่า เหมือนจะดีใช่ไหมครับ พื้นที่บริการก็เป็นพื้นที่คัดสรรแล้วว่า มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

          แต่เท่าที่ผมเคยทำงานมา นักวิชาการอย่างผมไม่เคยได้กำหนดพื้นที่บริการตรงไหนเลย เพราะพื้นที่บริการอยู่ตรงนั้นตั้งแต่ปีมะโว้ เช่น พื้นที่บริการของอุทยานสิมิลัน ตั้งอยู่ในหาดสวยที่สุด 2 แห่งในหมู่เกาะ เพราะเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน สมัยที่เราเลือกสร้างโน่นนี่ตอนเปิดอุทยาน เราคำนึงถึงที่ราบ น้ำจืด และความสะดวกในการสัญจร เราไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และเมื่อมีการก่อสร้างแล้ว ให้ตายมันก็ต้องอยู่ตรงนั้น แผนการจัดการทำตามหลัง พื้นที่บริการในอุทยานของประเทศไทย จึงไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งรบกวนต่อสิ่งแวดล้อมน้อยสุด แต่จะเป็นพื้นที่สะดวกสุดในการอยู่อาศัยและเดินทาง

          เมื่อนำ Key Word มารวมกัน ผมเห็นว่า อุทยานกำลังทำอะไรก็ไม่รู้ ? นี่ไม่ใช่การประชด แต่ไม่รู้จริง ๆ ว่า ประโยชน์จะก่อเกิดกับอุทยานตรงไหน ได้เงิน ? เอาเงินไปทำไม ? ในเมื่ออุทยานไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อหาตังค์เข้าหลวง ยิ่งถ้าคิดถึงความปวดหัว ทั้งในการคัดเลือกเอกชน การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้ระเบียบและข้อกฏหมายในการบังคับเอกชน มีแต่วุ่นกับวุ่น

          ในทางกลับกัน ผมมีข้อสงสัย เมื่อนิสิตรายหนึ่งของผม ทำหนังสือผ่านคณะและมหาวิทยาลัย ถูกต้องตามระเบียบทุกประการ เพื่อขออนุญาตเข้าไปทำงานวิจัยระดับวิทยานิพนธ์ปริญญาโทในพื้นที่อุทยาน ในงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องมีการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอยู่บ้าง (ไม่งั้นจะแยกชนิดสัตว์ได้ไงจ๊ะ โทรถามบั๊กเหรอ) คำตอบที่ได้รับ คือ ไม่อนุญาต

          ความสงสัยของผม คือ เมื่ออุทยานถูกประกาศเพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัย เจตนาข้อนี้อยู่ในลำดับสูงกว่าด้านการนันทนาการด้วยซ้ำ แต่อุทยานมีแนวคิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ สร้างรีสอร์ตทับโน่นเหยียบนี่ไปไม่รู้กี่ตัว โดยอ้างว่าเพื่อการท่องเที่ยว แต่กลับไม่อนุญาตให้มีการศึกษาวิจัยเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ ที่จะก่อประโยชน์สืบต่อความรู้

          หากคำตอบที่ได้รับ หมายถึง ความรู้ช่างมัน เงินสิจ๊ะสำคัญกว่า ผมจะได้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับอุทยานใหม่ รวมทั้งบอกทุกคนที่ผมรู้จักหรือที่ผมสอนว่า อุทยานเค้ามีแนวคิดอย่างนี้นะ

          ท้ายสุด ผมรู้จักพี่ ๆ น้อง ๆ จำนวนมากในกรมอุทยาน ฯ ผมเข้าใจสภาพของเจ้าหน้าที่ ผมไม่ต้องการรุกเร้าหรือสร้างความลำบากใจให้พวกเขา แต่บอกให้คนเค้ารู้เถอะครับ เราควรจะสร้างความลำบากใจให้ใคร ผู้ใดเป็นคนคิดนโยบายนี้ ผมและเพื่อน ๆ จะได้ไปถาม “เขาหรือเธอ” ผู้นั้นให้ถูกคน

          จะถามทุกคำถามที่ถามมา ก่อนลงท้ายด้วยการถามว่า “อุทยานนี้ใครจอง !!?”



หมายเหตุ – เรื่องนี้ดุเดือดเป็นพิเศษ เพราะผมบังเอิญเป็นลูกชายของคนที่ผลักดันและเปิดอุทยานหลายแห่งที่กำลังจะถูก “นำร่อง” ตอนที่ผมเป็นเด็กน้อย ติดตามไปเปิดอุทยานกับคุณพ่อ ผมไม่เคยได้ยินคำว่า “เงิน” จากปากท่านแม้แต่คำเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.027 วินาที กับ 20 คำสั่ง