ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
เมษายน 25, 2024, 01:36:13 AM
ผีเสื้อและดอกไม้ [ ปี 1- 5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ผีเสื้อ และ ดอกไม้ (ผู้ดูแล: นายซาไกทัดดอกฝิ่น)
| | |-+  เสียงอาลัยจากผู้ร่วมงาน "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยาไทย
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงอาลัยจากผู้ร่วมงาน "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยาไทย  (อ่าน 3923 ครั้ง)
เสียงอาลัยจากผู้ร่วมงาน "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยาไทย
« เมื่อ: กันยายน 15, 2008, 08:56:24 PM »

เสียงอาลัยจากผู้ร่วมงาน "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยาไทย


เราห้ามความตายไม่ได้ แต่หากทำได้หลายคนคงอยากให้ "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยา มีชีวิตสานต่องานที่เขารักไปอีกนาน และผู้ที่เคยร่วมงานกับเขา ต่างใจหาย เสียดาย เสียใจ และรับไม่ได้กับการจากไปอย่างกระทันหันของมือซ้าย "หมอบุญส่ง" พหูสูตรด้านสัตว์ของไทย
       
       ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอแสดงความเสียใจ และอาลัยต่อการจากไปของ ศ.ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่เหลืออีกเพียง 2 ปี ก็จะถึงวัยเกษียณ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.51 ที่ผ่านมา
       
       นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์เมืองไทย เพราะกล่าวได้ว่าเขาคือนักธรรมชาติวิทยา ที่มีความเชี่ยวชาญและหาใครทดแทนได้ยาก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้ไถ่ถาม ไปยังผู้ร่วมงานของเขา ถึงสิ่งที่นักวิชาการผู้นี้ ได้ทิ้งไว้ให้กับคนข้างหลัง
       
       วัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ซึ่งเป็นทั้งลูกน้องและลูกศิษย์ของ ดร.จารุจินต์ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยเสียงสะอื้นว่า ทุกคนต่างช็อคกับการจากไปของอาจารย์ และเขาก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จนกระทั่งได้เห็นศพอาจารย์
       
       เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เขาเพิ่งจะฝากหนังสือไปให้อาจารย์ลงชื่อและยังได้คุยเล่นกัน อีกทั้งเมื่อวันอังคาร (9 ก.ย.51) อาจารย์เพิ่งมาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับทำพจนานุกรมสัตว์อยู่นาน
       
       "อาจารย์เป็นคนเก่งที่ไม่หวงความรู้ ให้ความรู้ทุกคนเต็มที่ มีหนังสือเป็นแสนๆ ซึ่งทุกคนขอได้ เป็นนักวิชาการที่ไม่ได้วางตัวสูง แกสนุกสนานกับการทำงาน น่ารัก ไม่ถือตัว มีลูกศิษย์เยอะมาก คงมีคนที่ศึกษาเรื่องธรรมชาติวิทยาเยอะ แต่คนที่ทำด้วยใจ ทำทั้งชีวิต ทำด้วยความสนุก ไม่หวังเงิน คงมีไม่เยอะ" วัชระกล่าว
       
       "แกพูดบ่อยๆ ว่า แกยังตายไม่ได้ เพราะมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ ผมทำเรื่องนก แต่อาจารย์ทำเรื่องสัตว์ทุกอย่าง รู้จักหมด ถามอะไรก็ตอบได้ ไม่รู้เอาสมองที่ไหนไปจำ คงจะหาใครเทียบอาจารย์ไม่ได้" วัชระกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยน้ำเสียงเศร้า
       
       วัชระยังบอกอีกว่า ดร.จารุจินต์เขียนหนังสือพจนานุกรมสัตว์ค้างไว้ โดยมีข้อมูลไว้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ซึ่งหลังจากผ่านพ้นงานศพไปแล้ว คงต้องติดต่อกับทางครอบครัวของอาจารย์ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาสานต่อ และนักวิชาการธรรมชาติวิทยาที่ทำงานร่วมกันกับอาจารย์ คงต้องมาคุยกันในเรื่องสานต่องาน
       
       ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานอีกนานเท่าใดพจนานุกรมดังกล่าว จึงจะแล้วเสร็จ เพราะยังไม่ทราบว่าอาจารย์เขียนไว้ละเอียดแค่ไหน ซึ่งต้องทำให้ได้ละเอียดเท่ากัน
       "ผมได้ความรู้จากอาจารย์ ที่หาจากหนังสือไม่ได้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่นักวิชาการคนอื่นไม่ไม่สนใจ อาจารย์ก็เก็บมาเล่า อาจารย์มีความเมตตาเยอะมาก รูปแบบการทำงานก็ไม่ได้ตึงเป๊ะ แต่ให้คนทุกคนทำงานให้เสร็จตามเวลา และอาจารย์ก็บอกว่าให้ทำเพื่อชาติ อย่าทิ้ง" วัชระกล่าว
       
       ทั้งนี้ วัชระบอกว่าเขารู้จัก ดร.จารุจินต์ตั้งแต่ยังไม่เคยได้เจอตัวจริง จากการอ่านหนังสือที่อาจารย์เขียน และมีโอกาสทำงานที่ได้เจอกันบ่อยๆ จนกระทั่งได้มาทำงานเป็นลูกน้องที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเมื่อ 3 ปีก่อน
       
       สำหรับงานที่จะสานต่อนั้นก็ไม่ใช่ทำโดยหน้าที่เท่านั้น แต่การได้เห็นรูปแบบการทำงาน ที่ทำเพราะใจรัก ไม่ใช่ทำเพราะได้เงินเดือน ก็เป็นอีกเหตุผลให้เขาสานต่องานของอาจารย์
       
       ทางด้านวียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ซึ่งเป็นลูกน้องของ ดร.จารุจินต์ อีกคน ที่ได้ร่วมงานกับนักธรรมชาติวิทยาผู้ล่วงลับ มาได้ 6-7 ปี กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เขาได้พบกับอาจารย์ครั้งแรกในป่า จึงได้รับเชิญใเข้ามาร่วมงานด้วย
       
       "ผมเจอท่านโดยบังเอิญในป่า ก็ได้แสดงความบ้าเรื่องมดให้อาจารย์ได้เห็น อาจารย์เลยชวนมาทำงาน ซึ่งท่านพูดว่า คนที่เป็นลูกน้องท่าน ต้องมีความบ้าในทางวิชาการทุกคน ท่านชอบคนที่ทำงานจริงจัง และให้เครดิตลูกน้องเต็มที่ ไม่จุกจิกในการทำงาน แต่ต้องเสร็จตามเวลา"
       
       "อาจารย์สอนว่าหนังสือคือหัวใจของการทำงานวิจัย และการทำงานทางธรรมชาติวิทยาต้องออกไปให้เห็นธรรมชาติ ซึ่งท่านก็บ่นว่ามาเป็นผู้บริหาร ไม่ได้ออกไปเห็นธรรมชาติ คงสู้พวกผมไม่ได้แล้วเพราะไม่ได้เห็นตัวจริง" วียะวัฒน์กล่าว
       
       วียะวัฒน์บอกว่า การเสียชีวิตของ ดร.จารุจินต์นั้นไวมาก ยังไม่มีใครคิดว่าอาจารย์จะเสียชีวิต และรับไม่ได้เพราะอาจารย์ไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคปกติ ทั้งนี้ได้ตกลงกับเพื่อนร่วมงานไว้เบื้องต้นว่า จะต้องสานงานเกี่ยวกับพจนานุกรมพืชและสัตว์ที่ ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาทำค้างไว้อยู่
       
       นอกจากนี้เขาเองก็ทำงานร่วมกับอาจารย์ค้างไว้คือ หนังสือรวบรวมรายชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเขาต้องทำต่อให้เสร็จและจะได้ประสานงานกับทางครอบครัวของอาจารย์ในภายหลัง
       
       ด้านสาคร ชนะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหาร อพวช. กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ถึงการสูญเสียบุคลากรในครั้งนี้ว่า เสียใจและเสียดายแทนประเทศชาติ ไม่ได้เสียดายแค่ในระดับองค์กรที่สูญเสียบุคลากรไป
       
       ทั้งนี้ ดร.จารุจินต์เป็นนักอนุกรมวิธาน ที่เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์อย่างไม่มีใครเกิน เก่งเรื่องแมลง และเป็นหัวหน้าที่ฝึกลูกน้องได้ดี ซึ่งไม่รู้จะหาคนแบบเขาได้อีกหรือไม่
       
       "แกเก่งเรื่องแมลง รูปแบบการทำงานของแก่เน้นเชิงวิชาการ เก็บตัวอย่างพืชและสัตว์มาจำแนก ซึ่งตอนนี้ก็มีนิทรรศการ Only in Thailand ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งจัดแสดงสิ่งมีชีวิตที่พบเฉพาะในประเทศไทย และก็มีสัตว์หลายชนิดที่ตั้งชื่อตามแกด้วย" นายสาครกล่าว
       
       ข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อปี 2550 และเว็บไซต์ Gotoknow ระบุว่า ดร.จารุจินต์ศึกษากีฏวิทยาและอนุกรมวิธาน ในระดับปริญญาตรีและโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามลำดับ จากนั้นทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นเวลาร่วม 21 ปี ก่อนจะดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.ในปี 2538
       
       ทั้งนี้ ดร.จารุจินต์ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นที่ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์อย่างหาตัวจับได้ยาก และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง "เ-หี้-ย" และเขาเองได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า นพ.บุญส่ง เลขะกุล หรือ "หมอบุญส่ง" นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังผู้ล่วงลับไปแล้วเช่นกันนั้น เปรียบให้เขาเป็น "มือซ้าย" เคียงคู่กับ "กิตติ ทองลงยา" ผู้เปรียบเป็น "มือขวา" ของหมอบุญส่ง
       
       เขารับสานต่อภารกิจจากหมอบุญส่งมา 3 เรื่อง คือ ตั้งองค์การพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เขียนคู่มือดูนกภาษาไทย และพจนานุกรมสัตว์ ซึ่งภารกิจหลังไม่แล้วเสร็จ แต่ลูกศิษย์ต่างรับที่จะสานต่องานดังกล่าวแล้ว
       
       แม้ ดร.จารุจินต์ จะไม่มีตำแหน่ง "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" จากองค์กรใดมาการันตี แต่ความมุมานะในการทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงานเพื่อรวบรวมและจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตในเมืองไทย และเสียงสะท้อนของผู้ร่วมงาน ก็แสดงให้ถึง "ค่า" ในตัวนักธรรมชาติวิทยาผู้นี้ ที่จะเป็นแบบอย่างอันดีให้กับคนรุ่นหลังต่อไป.

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 15 กันยายน 2551
บันทึกการเข้า

เพราะหัวใจ(เรียกร้อง ... เราจึงออก)เดินทาง
Re: เสียงอาลัยจากผู้ร่วมงาน "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยาไทย
« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 15, 2008, 09:00:48 PM »

ง่า...ไม่รู้จักอ่ะ

แต่อ่านดู ท่าทางเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความคิดดี มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ย่อมน่าเสียดาย และเสียใจ

ทำไมพวกเลวๆ ไม่มีประโยชน์ ไม่ยักตายบ้าง
บันทึกการเข้า

Re: เสียงอาลัยจากผู้ร่วมงาน "ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ" สุดยอดนักธรรมชาติวิทยาไทย
« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 16, 2008, 11:39:49 AM »

ตายไป  ชื่อยัง  คงอยู่
แต่จะอยู่  อย่างดี  หรือ  เล็ว
ดี คือคำสรรเสริฐ  ยกย่องบูชา
เล็ว คือ ต่างห่า สาปส่ง  แช่งด่า...
.................................
ก็เท่านี้  ชีวิต...
.......................
ไม่รู้จักชื่อท่านตอนมีชีวอตอยู่  ท่านจากไป  ได้รับ ได้สดรับ ในคุณความดีท่านมากมาย   นี่ซิ คนดี โดนแท้
บันทึกการเข้า

ยังจำได้ดี  และคิดถึง..อยู่ทุกวัน...
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.026 วินาที กับ 20 คำสั่ง