ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
เมษายน 18, 2024, 05:37:56 PM
ศิลปวัฒนธรรม [ ปี 1-5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ศิลปวัฒนธรรม (ผู้ดูแล: tooom, bamboo)
| | |-+  ก้าวสู่ศตวรรษเนื้อร้องเพลง 'สรรเสริญพระบารมี' ฉบับปัจจุบัน
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ก้าวสู่ศตวรรษเนื้อร้องเพลง 'สรรเสริญพระบารมี' ฉบับปัจจุบัน  (อ่าน 4087 ครั้ง)
ก้าวสู่ศตวรรษเนื้อร้องเพลง 'สรรเสริญพระบารมี' ฉบับปัจจุบัน
« เมื่อ: มิถุนายน 25, 2012, 12:03:51 AM »

        นายพฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย กล่าวเปิดงานก้าวสู่ศตวรรษเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานซึ่งจะครบ100 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2556  เล่าถึงประวัติความเป็นมาของเนื้อเพลงสรรญเสริญพระบารมีจากอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมสาธิตการเล่นกระบอกเสียงไขขี้ผึ้ง การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงครั้งแรกของโลกโดยคณะนายบุศย์มหินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2443 สาธิตการเล่นแผ่นเสียงครั่งเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับแม่ปุ่น แม่แป้น เนื้อร้องไทยเดิมฉบับเดียวในประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผ่นเสียงต้นฉบับ สาธิตการเล่นแผ่นเสียงครั่ง เพลงสรรเสริญพระบารมี เนื้อร้องสำหรับละครดึกดำบรรพ์ ของวังบ้านหม้อ พ.ศ. 2450 ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผ่นเสียงต้นฉบับ สาธิตการเล่นแผ่นเสียงครั่ง เพลงสรรเสริญพระบารมี เนื้อร้องปัจจุบัน จากแผ่นเสียงต้นฉบับตรากระต่าย และเชิญชวนผู้เข้าร่วมงาน ร่วมร้องเพลงสรรญเสริญพระบารมี โดยใช้แผ่นเสียงต้นฉบับบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งบรรเลงโดยแตรงวงทหารมหาดเล็ก จากแผ่นตราตึกสีน้ำตาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ณ พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย วันที่ 1 มีนาคม 2555


      ความเป็นมาของ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" เพลงที่คนไทยรู้จักและคุ้นหูกันมานานในฐานะเพลงประจำสถาบันพระมหากษัตริย์

ทุกครั้งที่คนไทยได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือแม้แต่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน สิ่งแรกที่ปรากฎขึ้นในใจของพวกเราชาวไทยก็คือ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" เพราะเป็นเพลงที่คนไทยรู้จักและคุ้นหูกันมานานในฐานะเพลงประจำสถาบันพระมหากษัตริย์

ปัจจุบันเพลงสรรเสริญพระบารมี เริ่มเลือนหายและได้ยินกันน้อยลงต่างจากในอดีต เมื่อย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากจบการแสดงมหรสพต่างๆ แล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการบรรเลงและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้ง หรือแม้แต่ลิเกเบิกโรง หรือก่อนฉายหนังกลางแปลง เสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีก็จะกระหึมก้องท้องทุ่งนาและในใจคนไทยทุกที่ไป เพื่อเป็นการเล่าขานว่าคนไทยอยู่ดีมีสุข มีการละเล่นครื้นเครง มีเครื่องบันเทิงใจจวบจนถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ได้ทรงปกป้องประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเข้าสู่ยุคปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการแสดงคอนเสิร์ตหรือละครเวทีต่างๆ ดูเหมือนจะไม่มีผู้จัดรายใดบรรจุเพลงสรรเสริญพระบารมีไว้ในรายการแสดงเลย บางโรงภาพยนตร์ก่อนฉายหนังก็ไม่ขึ้นเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วยซ้ำไป หรือแม้แต่สถานีโทรทัศน์บางช่องที่ออกอากาศต่อเนื่องก็ไม่คิดที่จะนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาคั่นเวลาสักนาที เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยเลย

ดังนั้นคนไทยจึงควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเพลงสรรเสริญพระบารมีมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถือเป็นเพลงสำคัญของแผ่นดิน เป็นเพลงถวายพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ ธ ผู้ทรงปกป้องแผ่นดินไทยมาโดยตลอด และถ้าลองให้ย้อนอดีตความเป็นมาของเพลงสรรเสริญพระบารมี เชื่อว่าคนไทยหลายคนอาจไม่ทราบว่าเพลงสำคัญของแผ่นดินเพลงนี้มีความเป็นมาอย่างไร และที่สำคัญอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้เป็นวันย่างเข้าปีที่ 100 หรือกำลังก้าวสู่การครบรอบหนึ่งศตวรรษเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เราร้องกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ และประกาศให้ใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2456

ในอดีตตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามได้ใช้เพลงประโคมอย่างโบราณแทนเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติ และเครื่องประโคมที่สำคัญได้แก่ มโหระทึก สังข์ แตรงอน ปี่ไฉน กลองชนะ และอื่นๆ

ต่อมาเมื่อขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคทองของการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่ง เพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างไทยที่ใช้การประโคมเป็นอันต้องยุติบทบาทลง เนื่องด้วยการรับวัฒธรรมอย่างฝรั่งซึ่งมีที่มาจากช่วงปีพ.ศ.2394 ได้มีครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ Impey เดินทางเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหลวง ต่อมาทหารอังกฤษอีกนายหนึ่งชื่อ Thomas Knox ก็ได้เดินทางเข้ามาและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงให้ทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหน้า ทั้งคู่เป็นผู้ที่นำเพลง "God Save The Queen" ซึ่งถือเป็นเพลงถวายพระเกียรติพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษมาใช้ในกรุงสยาม แต่มีการประพันธ์เนื้อร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อถวายพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฎหลักฐานสำคัญอยู่ในหนังสือ Siam Recorder

ต่อมาไม่นานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงได้ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาไทยลงในทำนอง God Save The Queen โดยให้ชื่อว่า "จอมราชจงเจริญ" ดังนี้
ความ สุขสมบัติทั้ง บริวาร
เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนมาน นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงเพียงจันทร์

จนกระทั่งขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปรและเกาะชวาในปี พ.ศ.2414 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่สิงคโปร ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทหารอังกฤษจึงได้ใช้เพลง God Save The Queen บรรเลงเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จแบบเดียวกับที่ใช้ในกรุงสยาม ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลลันดา ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามพระองค์ว่าจะให้ใช้เพลงอะไรบรรเลงเพื่อเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จ พระองค์จึงทรงสั่งให้บรรเลงเพลง God Save The Queen เช่นเดียวกับในกรุงสยาม ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามอีกครั้งว่า สยามมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำไมจึงใช้เพลง God Save The Queen เมื่อพระองค์ทรงได้ยินเช่นนั้นก็ตกพระทัย และสั่งมิให้มีการบรรเลงเพลง God Save The Queen เป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนครจึงได้มีการประชุมครูดนตรีเพื่อสรรหาเพลงสรรเสริญพระบารมีแทนเพลง God Save The Queen โดยได้มีการเลือกทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเรียกกันว่า “เพลงพระสุบิน” มาใช้เป็นทำนอง และให้เฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็ก ชาวฮอลันดา เรียบเรียงใหม่ให้ออกแนวดนตรีตะวันตกเพื่อใช้กับแตรฝรั่งไปพลางก่อน

จวบจนมีการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่ามีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วยทำนองอย่างปัจจุบันเป็นครั้งแรกก็คือ สูจิบัตรการแสดงดนตรีถวาย เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2431 เป็นกำหนดการเล่นมโหรีของทหารบกและทหารเรือ ในงานเปิดศาลายุทธนาธิการ โดยได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงเล่นลำดับแรกและใช้เนื้อร้องสำหรับทหาร นิพนธ์โดยนายพลตรีเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ดังนี้

"...ข้า วร พุทธ เจ้า เหล่า วิริย พล พลา สบ ไสมย กาละ ปีติกมล ร่วม นร จำเรียง พรรค์ สรร ดุริย พล สฤษดิ มณฑล ทำ สดุดี แด่ นฤบาล ผล พระ คุณะ รักษา พล นิกายะ ศุข สานติ์ ขอ บันดาล พระ ประสงค์ใด จงสฤษดิ ดัง หวัง วร หฤไทย ดุจ ถวาย ไชย ฉนี้..."

ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างปัจจุบันน่าจะมีก่อนงานเปิดศาลายุทธนาธิการ ซึ่งน่าจะออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีลงสรงคราวสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ในปีพ.ศ.2429 และจากการค้นคว้าทำให้ทราบว่าทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นการขยายทำนองเพลงอัตราชั้นเดียวที่ใช้ประโคมเวลาเสด็จแล้วนำมาแต่งเป็นอัตราสองชั้นจนออกมาเป็นทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยท่านครูมีแขก แต่ก็มีบางส่วนเชื่อว่าเป็นการประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย

นอกเหนือจากเนื้อร้องทหารแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังได้ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องในแบบอื่นๆ และกรมศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้ในโรงเรียนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2445 มีดังนี้

"...ข้า วร พุทธ เจ้า เหล่า ยุพ ยุพ ดี ยอ กร ชุลี วร บทบงสุ์ ส่ง ศัพท์ ถวาย ไชย ใน นฤ ประสงค์ พระ ยศ ยิ่ง ยง เยน สิร เพราะ พระ บริบาล ผล พระ คุณะ รักษา ปวง ประชา เปน ศุขะ สาร ขอ บันดาล พระ ประสงค์ ใด จง สฤษดิ ดัง หวัง วร หฤไทย ดุจะ ถวาย ไชย ฉนี้..."

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงนำเนื้อร้องเดิมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาปรับปรุงแก้ไข โดยทรงพระราชนิพนธ์ใหม่และเปลี่ยนคำว่า “ฉนี้” เป็น “ชโย” ซึ่งการเปลี่ยนคำว่า "ฉนี้" เป็น "ชโย" นั้นเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงต้องการให้คำลงท้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีเกิดความฮึกเหิมหรือที่เรียกว่า "War Cry" คือเสียงของทหารในเวลาเข้าตะลุมบอน ซึ่งเมื่อก่อนใช้คำว่า "โห่ฮิ้ว" แต่มีความรู้สึกไม่ขึงขัง และคำว่า “ชโย” นี้ มีที่มาจากทูลกระหม่อมจักรพงศ์ ทรงเอาพระหทัยใส่ในการทหารก็เลยมีการปรับปรุง War Cry โดยให้ใช้คำว่า "ชโย" แทน ดังนี้

"...ข้าวระ พุทธเจ้า เอามะโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บุญญะดิเรก เอกบรมะจักริน พระสยามินทร์ พระยศะยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเปนศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จง สฤษดิ์ ดัง หวังวระหฤทัย ดุจะถวายไชย ชโย..."

โดยพระราชนิพนธ์นี้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2456 โดยได้มีการประกาศเพิ่มเติมท้ายบทร้องดังนี้ "...คำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีบทนี้ สำหรับใช้ทั่วไปได้ในโรงเรียนทั้งผู้ชายและผู้หญิงเหมือนกันหมด ให้โรงเรียนทั้งหลายฝึกหัดนักเรียนให้ร้องตามถ้อยคำบทใหม่นี้และให้เปนอันเลิกใช้บทเก่าได้..." ลงชื่อเจ้าพระยาพระเสด็จ เสนาบดี ผู้แจ้งประกาศ

เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถูกนำมาขับร้องอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคนโยบายรัฐนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้มีการออกประกาศว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 8 เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อวันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2483 โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทยรัฐบาลจึงเห็นควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่าสยาม และตัดทอดข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความต่อไปนี้


"...ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย ดุจถวายไชย ชโย..."

แต่ต่อมาก็ได้ถูกยกเลิกเนื้อร้องนี้ไปหลังจากจอมพลแปลก พิบูลสงครามสิ้นสุดอำนาจทางการเมือง รัฐบาลจึงได้นำเนื้อร้องฉบับเต็มซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 กลับมาใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์หรือเพลงสรรเสริญพระบารมีดังเดิม จนกระทั่งถึงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นวาระย่างเข้า 100 ปี หรือศตวรรษเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้ขับร้องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
....

บทความโดย พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (www.t-h-a-i-l-a-n-d.org)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.034 วินาที กับ 19 คำสั่ง