ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
มีนาคม 29, 2024, 05:55:50 PM
ทะเลใจ ใส ๆ [ ปี 1- 5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีคราม
| |-+  Aquarium : ตู้ปลา
| | |-+  พิษหอยมรณะ!!!
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พิษหอยมรณะ!!!  (อ่าน 8597 ครั้ง)
พิษหอยมรณะ!!!
« เมื่อ: กันยายน 26, 2007, 03:01:00 AM »

พิษหอยมรณะ

          ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยเห็นหนังสือเรื่อง "The Kingkong Effect" ของ Paul Adirex มีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า "พิษหอยมรณะ"

          คุณ Paul Adirex  คือนามปากกาของคุณปองพล อดิเรกสาร...อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้สมัครสส.ในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคไทยรักไทย

          เมื่อหนังสือของท่านวางแผง ผมลองซื้อไปอ่าน ยอมรับว่าท่านทุ่มเทกับงานเขียนชิ้นนี้มาก ภาษาเข้าถึง ให้ความรู้สึกร่วมอยากอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีข้อมูลแปลกๆ น่าสนใจอีกหลายประการ ใครสนใจลองซื้อไปอ่าน มีวางแผงขายอยู่ทั่วไป

          ผมยังเคยอ่านนิยายหรือดูหนังหลายเรื่อง ที่กล่าวถึงหอยมรณะ เช่น The Lost World ตอนคนชั่วเอาปืนลูกดอกไปไล่ยิงไดโนเสาร์ ในนั้นบรรจุพิษของหอยทะเลชนิดหนึ่ง บรรยายไว้ว่ามีพิษแรงที่สุดในโลก...เร็วกว่าระบบประสาท ใครโดนเข้าไปจะตายก่อนรู้สึกเจ็บ

          หอยมรณะทั้งในหนังสือและในหนังเป็นหอยกลุ่มเดียวกัน พวกเรารู้จักในนาม "หอยเต้าปูน" (Cone Shell)

          ผมอยากเขียนเรื่องของเขามานานแล้วครับ เพียงแต่ว่าไม่เคยมีรูปสวย ๆ จนถึงคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่ดำน้ำแถว "หินม้วนเดียว" หมู่เกาะสิมิลัน ผมจรดๆจ้องๆส่องไฟอยู่แถวปะการังอ่อนช่อหนึ่ง เจอหอยอะไรก็ไม่รู้กำลังเดินต้วมเตี้ยม เมื่อเข้าไปใกล้ถึงรู้ว่านี่แหละใช่เลย

          คุณหอยกำลังคลานอยู่ข้างปะการังอ่อนกอหนึ่ง ยื่นงวงไปข้างหน้า โชว์ท่าทางว่าหิวจัง ผมพยายามถ่ายภาพสุดความสามารถ แต่แถวนั้นปะการังอ่อนเยอะ เข้าใกล้ไม่ค่อยได้ เลยได้ภาพไม่ค่อยชัด ยิ่งเป็นภาพขาวดำอาจดูไม่รู้เรื่อง ใครอยากเห็นชัดขึ้นลองคลิกเข้าไปที่ www.TalayThai.com เราจะเอาภาพขึ้นมาโชว์ในอีกไม่นานนี้

          เมื่อเคยเห็นหอยเต้าปูนด้วยสายตาตัวเอง อีกทั้งยังมีภาพถ่าย ผมเลยได้ฤกษ์เขียนแนะนำเขา ให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจว่าเจ้า "หอยมรณะ" ที่แท้เป็นเช่นไร?

          ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความรู้จักกับเหล่าหอยเต้าปูนก่อน พวกเขาเป็นหอยฝาเดียว อยู่ในครอบครัว Conidae ทั้งโลกมีเกิน 500 ชนิด ตั้งแต่ขนาดเปลือกยาวแค่ 2-3 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดยาว 20 เซนติเมตร สำหรับในเขตอินโด-แปซิฟิคที่รวมเมืองไทยเข้าไปด้วย มีอยู่มากกว่า 300 ชนิด

          หอยเต้าปูนอาศัยตามชายฝั่ง ระหว่างความลึกแค่เข่าไปจนถึงที่ลึกหลายสิบเมตร บางตัวอยู่ตามก้นทะเลลึกนับร้อยเมตร ถูกจับติดขึ้นมากับอวนลากน้ำลึกก็หลายครั้ง

          จุดเด่นของหอยกลุ่มนี้คือพวกเขาเป็นหอยมีพิษ ก่อนที่ผมจะบรรยายว่าพิษของหอยเต้าปูนเป็นอย่างไร? คงต้องมาอธิบายว่าทำไมเขาถึงต้องมีพิษ?

          สัตว์ทะเลที่มีพิษมีอยู่มากมาย แต่ทุกชนิดมีเหตุผลสองประการ หนึ่งคือมีพิษไว้ป้องกันตัว อีกหนึ่งคือมีพิษไว้หาอาหาร ตัวอย่างเช่น ปลาสิงโต ปลากระเบน พวกนี้มีพิษตามเงี่ยงหรือก้านครีบ แต่พิษไว้เพื่อการป้องกันตัวเท่านั้น ไม่ได้ว่ายไล่เอาเงี่ยงแทงปลาอื่นให้ตายแล้วจับมากิน

          สำหรับพวกที่มีพิษแบบที่สอง ใช้ในการล่าเหยื่อ หอยเต้าปูนจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาทุกตัวกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร หอยเต้าปูนมังสวิรัตยังไม่ถือกำเนิดบนโลก

หอยกลุ่มนี้จะมีงวง (Proboscis) เหมือนกับหอยฝาเดียวส่วนใหญ่ ในนั้นมีฟัน (Radula) หอยบางชนิดมีฟันเป็นแผ่นกลมไว้ขูด เช่น หอยเบี้ย แต่หอยเต้าปูนแล้วฟันเค้าเปลี่ยนรูปไปคล้ายฉมวก (Harpoon) ความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรสำหรับหอยตัวใหญ่ อาจสั้นลงตามชนิดและขนาดของหอย

          ฉมวกที่ว่าด้านในกลวง ที่โคนมีท่อต่อมาถึงถุงใส่พิษในตัวหอย เมื่อฉมวกถูกยิงใส่เหยื่อ พิษดังกล่าวจะไหลเข้าบาดแผล หลักการโดยง่ายขอให้คิดถึงการฉีดยา

          คราวนี้มาถึงสิ่งที่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าหอยสามารถพุ่งฉมวกไปแทงเหยื่อในระยะไกล ความจริงแล้วกระบวนการต้องเริ่มจากหอยแหย่งวงไปสัมผัสเหยื่อก่อน ถึงจะยิงเข็มพิษใส่ได้ ไม่ใช่ปลาว่ายห่างออกไปห้าวา โดนฉมวกของหอยตกลงมาดิ้นกระแด่ว

          ความรุนแรงของพิษหอยเป็นอย่างไร? ผมคงต้องอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพิษและอาหารที่หอยแต่ละกลุ่มกิน

          หอยเต้าปูนกลุ่มแรกกินหนอนเป็นหลัก (Vermivorous) หนอนที่ว่าอาจเป็นใส้เดือนทะเล เป็นหนอนตัวแบน หรือหนอนอะไรก็ได้ที่อยู่ตามพื้นทะเล มีอยู่เยอะแยะเชียวครับ เนื่องจากเป็นหอยกินหนอน กลุ่มนี้เลยมีพิษไม่รุนแรงมากนัก เพราะไม่มีความจำเป็น แค่โดนฉมวกจิ้มหนอนก็ร้องไห้ไปสวรรค์แล้ว

          หอยเต้าปูนกลุ่มที่สองชอบกินหอยอื่น (Molluscivorous) พิษจะแรงกว่ากลุ่มแรก เพราะบางครั้งเหยื่อมีขนาดใหญ่กว่าตัวเอง ต้องทำให้เป็นอัมพาตก่อนเริ่มกระบวนการหม่ำ โดยปรกติหอยเต้าปูนกลุ่มนี้จะเลือกกินหอยฝาเดียวเป็นหลัก ส่วนหอยสองฝามีเปลือกปิดมิดชิด โอกาสโดนกินเลยมีน้อยลง

          กลุ่มสุดท้ายเป็นหอยเต้าปูนที่กินปลา (Piscivorous) พวกนี้มีพิษรุนแรงที่สุด แถมยังเป็นพิษที่มีผลโดยตรงต่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง แบบว่าป๊อกเดียวจอด ไม่งั้นมีหวังปลาว่ายน้ำหนีไปตายอีกห้าสิบลี้ข้างหน้า หอยคงไม่มีปัญญาตามไปกินได้

          บางคนอาจสงสัย...เหมือนกับที่ผมเคยสงสัยว่า เจ้าหอยจะไปฆ่าปลากินได้อย่างไร? แน่นอนว่าพิษเค้าร้ายแรง แต่โอกาสที่หอยเดินต้วมเตี้ยมจะควบไล่ปลาจนทัน เอางวงจิ้มปลาแล้วปล่อยเข็มพิษ ในความเป็นจริงนึกภาพยังไงก็ไม่ออก

          ผมเพิ่งมาบางอ้อได้ไม่นานนี้ เมื่อเห็นภาพในหนังสือเล่มหนึ่ง พบว่าหอยจะล่าเหยื่อตอนกลางคืน ในเวลาที่ปลาหลายชนิดนอนหลับ เขาจะตามกลิ่นปลาไปจนเจอ ยื่นงวงไปแตะแล้วยิงเข็มพิษใส่ เนื่องจากปลาหลับอยู่เลยกลายเป็นเป้านิ่งของคุณหอย

          เหยื่อที่หอยเต้าปูนชอบมากคือปลาบู่ พวกนี้ขนาดไม่ใหญ่นัก มักนอนอยู่ตามพื้นทราย เมื่อหอยเต้าปูนล่าเหยื่อได้ พวกเค้าจะค่อย ๆ ใช้งวงดูดปลาเข้าไปจนหมดทั้งตัว ย่อยสลายปลาเป็นอาหาร บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นวัน ก่อนพ่นก้างปลาที่ย่อยไม่ได้ทิ้งไปในที่สุด

          ปัญหามีอยู่ว่า ผู้คนอย่างเราก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเหมือนปลา พิษของหอยพวกนี้จึงสามารถส่งผลต่อเรา นั่นคือที่มาของสมญานาม "หอยมรณะ"

          สำหรับเจ้าพ่อแห่งพิษ ได้แก่หอยเต้าปูนลายแผนที่ (Geography Cone) มีรายงานว่าคนตายเพราะหอยชนิดนี้ไม่ต่ำกว่า 36 ราย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเขาตัวโตกว่าหอยเต้าปูนกินปลาชนิดอื่น

          หอยเต้าปูนอีกชนิดที่มีพิษร้ายแรงคือ Textile Cone แม้ว่าจะมีรายงานการตายน้อยกว่าชนิดแรก แต่เชื่อว่าโดนไปแล้วมีโอกาสสู่สวรรค์ได้มาก ที่สำคัญคือหอยทั้งสองชนิดพบในประเทศไทยด้วยครับ

          มาถึงเรื่องหอยมรณะฆ่าคนตาย ก่อนอื่นต้องบอกคุณผู้อ่านไว้ว่าหอยเต้าปูนไม่ได้กินคนเป็นอาหาร การที่พวกเค้าทำร้ายเรามิใช่จงใจ แต่เป็นการป้องกันตัว

          เหตุการณ์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเพราะหลายคนมือบอนชอบเก็บหอยจากทะเล เห็นหอยเต้าปูนสวยดี มองดูแล้วไม่เห็นตัวก็นึกว่าตายแล้ว เก็บใส่กางเกงไปฝากแฟนดีกว่าเผื่อคุณเธอจะดีใจ (หอยเต้าปูนตอนกลางวันจะพักผ่อน เนื้อเยื่อหดไปข้างในจนดูเหมือนเปลือกหอยว่างเปล่า) สักเดี๋ยวหอยตื่นขึ้นมาพบว่ากำลังกลิ้งอยู่ในกางเกงคุณ เค้าไม่ชอบใจเลยยื่นงวงแล้วจิ้มเข้าให้ด้วยปลายฉมวก แฟนคุณแทนที่จะได้ของฝาก กลับต้องเป็นเสียน้ำตา

          คนส่วนใหญ่ตายเพราะหอยมรณะด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ ส่วนที่เหลือเกิดขึ้นเพราะนักดำน้ำมือบอน ไม่มีอะไรทำยื่นมือไปเขี่ยหอยเต้าปูนเล่น ผมลืมบอกไปว่างวงของหอยยื่นได้ยาวมากแถมยังบิดได้ทุกมุม คุณจะจับหอยที่หัวหรือที่ปลายมีค่าเท่ากัน อีกทั้งฉมวกยังคมมาก ทะลุเสื้อกางเกง...ถุงมือ...รวมทั้งชุดดำน้ำทุกรูปแบบ

          พิษของหอยเต้าปูนจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งทำลายการทำงานของกล้ามเนื้อ ผมไม่ทราบว่าทางแพทย์จะมีการรักษาอย่างไร? แต่เท่าที่อ่านข้อมูลมา...ไม่เห็นไปไกลได้ถึงหมอสักราย วิธีแก้พิษเบื้องต้นก็ไม่เห็นบอกไว้ คาดว่าคงต้องใช้การโทรไปสั่งจองโลงล่วงหน้า

          ข้อแนะนำง่ายที่สุด...อย่าคิดไปยุ่งกับหอยเต้าปูน ผมรับประกันว่าพวกเขาไม่พยายามล่าคุณเป็นอาหารแน่นอน เพื่อยืนยันว่าข้อความที่ผมบอก ไม่ได้ลอกมาจากหนังสือเพียงอย่างเดียว อยากให้คุณลองดูภาพประกอบ ผมถ่ายภาพขณะตัวเองอยู่ห่างหอยประมาณหนึ่งศอก ไม่เห็นเค้าจะพยายามพุ่งเข้ามาล่าผมเป็นเหยื่อ

          ตรงนี้ต้องเข้าใจหน่อยนะครับ ผมมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ งานส่วนหนึ่งคือการเขียนสารคดี ผมรู้เทคนิควิธีการเพื่อเข้าไปศึกษาสัตว์มีอันตรายโดยใกล้ชิด แต่ไม่สามารถสอนหรือแนะนำให้ใครทำอย่างผมได้ เพราะอย่างนั้น...โปรดปล่อยให้อาจารย์ธรณ์ไปเสี่ยงคนเดียว อย่าพยายามเลียนแบบเด็ดขาด เมื่อเจอหอย...ทิ้งระยะห่างเข้าไว้ สองสามเมตรได้ยิ่งดี จากนั้นขอให้สังเกตพฤติกรรมเขาดูว่ากำลังทำอะไร? น่าสนใจมากครับ

          มาถึงท้ายเรื่อง หลายคนคงคิดอยากกำจัดหอยเต้าปูนให้สิ้นซาก บอกว่าเก็บไว้ก็มีพิษร้ายอาจฆ่าคนให้ตายได้

          ผมอยากให้ลองมองในมุมตรงกันข้าม ด้านระบบนิเวศ หอยเต้าปูนมีประโยชน์แน่นอน เป็นส่วนหนึ่งของสมดุลแห่งธรรมชาติอันสลับซับซ้อน ด้านการท่องเที่ยว หอยกลุ่มนี้คือทรัพยากรที่มีชีวิต

          ลองคิดดู ลงไปเห็นสัตว์ที่มีพิษร้ายที่สุดชนิดหนึ่งในโลก ด้วยสายตาตัวเอง อาจไม่เท่ในสายตาบางคน แต่มีอีกหลายพันหลายหมื่นคนต้องการประสบการณ์เช่นนี้ครั้งหนึ่งในชีวิต พวกเขายินดีจ่ายเงินเพื่อลงไปดูหอยเต้าปูน กลายเป็นรายได้ที่ช่วยประเทศไทยในยามตกอับ

          เพื่อให้คนเกลียดหอยสบายใจขึ้น ผมแถมข้อมูลว่าปัจจุบันหอยมรณะใกล้หมดจากเมืองไทยแล้วครับ ข้อมูลทางวิชาการไม่มีใครทำไว้ เอาประสบการณ์ตัวเองมาเล่าให้ฟังก็ได้

          ในรอบสิบปี ผมไปดำน้ำไม่รู้กี่พันครั้งทั่วประเทศ เคยเจอหอยเต้าปูนแค่สี่ห้าครั้ง แถมยังเป็นพวกเปลือกสีตุ่นขุ่นมัวไม่น่าดู ส่วนหอยมรณะที่มีพิษร้ายแต่เปลือกมีลวดลายสวย ผมเคยเจอในทะเลไทยเพียง 1-2 ครั้ง เพราะพวกเขาส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ในร้านขายของที่ระลึกหมดแล้ว

          เรื่องจริงมีอยู่ว่า สัตว์ไม่ว่าในน้ำหรือบนบก ดุร้ายอันตรายขนาดไหน? เจอคนไทยเข้าไป บอกได้คำเดียวว่า "หนาว" แถมให้อีกสองคำก็ได้ว่า "เรียบวุธ"

          แม้แต่หนึ่งในสัตว์ที่มีพิษร้ายที่สุดในโลก...ยังถึงขั้นเกือบสูญพันธุ์ ไม่ต้องกังวลกับปลาน้อยน่ารักหรือกุ้งปูนุ่มนิ่ม...หมด...ไม่มีเหลือ

          ถ้าสัตว์ป่าหรือสัตว์ทะเลมีการจัดอันดับศัตรูหมายเลขหนึ่ง...

          คนไทยนี่แหละครับ "คนมรณะ" อย่างแท้จริง

บทความจาก  www.talaythai.com


* coneshell.jpg (117.58 KB, 600x472 - ดู 1931 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

เพราะหัวใจ(เรียกร้อง ... เราจึงออก)เดินทาง
Re: พิษหอยมรณะ!!!
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 11, 2007, 03:43:09 PM »

หอบเต่าปูนลายสวยจังคุณกุ้ง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง