ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
เมษายน 25, 2024, 12:12:52 PM
ศิลปวัฒนธรรม [ ปี 1-5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ศิลปวัฒนธรรม (ผู้ดูแล: tooom, bamboo)
| | |-+  จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวกัน
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวกัน  (อ่าน 3157 ครั้ง)
จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวกัน
« เมื่อ: มกราคม 16, 2010, 12:29:06 AM »

จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวกัน

จีน-ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” นับเป็นประโยคยอดฮิตแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่อาจทำให้ผู้คนนึกถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างจีนไทยตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย-ศรีอยุธยา หรือกลุ่มชาวจีนอพยพจากแถบภาคใต้จีน หอบเสื่อผืนหมอนใบ เข้ามาอาศัยในสยามประเทศ
       
       และขณะนี้ ยังมีการวิจัยสืบค้นหลักฐานที่อาจยืนยันว่า “จีน-ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ที่ลึกซึ้งยิ่ง คือ การวิจัยชนชาติจ้วงในมลฑลทางภาคใต้จีนคือ เขตปกครองตัวเองชนชาติจ้วงมณฑลกว่างซี หรือที่คนไทยนิยมเรียกคือ กวางสี ชนชาติจ้วงนี้ พูดภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาไท และมีส่วนคล้ายกับภาษาบนเกาะอินโดนีเซีย
       
       ด้วยพื้นฐานทางชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลจีนได้เลือกพัฒนามณฑลกวางสี เป็นปากประตูเข้าสู่และเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างเขตการค้าเสรี โดยเชื่อว่าพื้นฐานทางชาติพันธุ์นี่เอง จะเป็นพื้นฐานอย่างดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ กับกลุ่มชาติเอเชียอาคเนย์ที่ผู้นำจีนกำลังให้ความสำคัญมาก

 
       ผู้เขียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างไทยและจ้วงมากขึ้นในงานสัมนา “จ้วง- ไทย รากเหง้าเดียวกัน” การสัมนาฯนี้ถูกจัดขึ้น เนื่องในโอกาสเปิดสำนักวิจัยวัฒนธรรรมร่วมไทย-จีน ของโรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาร่วมไทย-จีน จังหวัดขอนแก่น ในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2553 และขอนำมาบอกเล่าสู่กันฟัง เพื่อต่อยอดความรู้ความสัมพันธ์ไทย-จีนเชิงสายเลือดในอีกแง่มุมหนึ่ง การสืบค้นรากเหง้าดังกล่าว อาจเป็นคุณูปการยิ่งในการเข้าใจรากเหง้าของคนไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง อีกทั้งอาจนำไปสู่การค้นพบทางประวัติศาสตร์และเหตุผลใหม่ของกำเนิดชนชาติไทย ที่อาจไม่ได้อพยพมาจากดินแดนอื่น แต่กลับมีเผ่าพันธุ์ ดั่งพี่น้องทองแผ่นเดียวกันกับชนชาติจีนหรือชาวจ้วง ชาวลาว และชาวพม่า
       
       งานนี้ ผู้จัดได้เชิญวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิชั้นนำ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ฟ่าน หงกุ้ย ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วิทยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมณฑลกว่างซี ทำงานวิจัยความสัมพันธ์ด้านจุดกำเนิดบรรพบุรุษ ในประเทศจีน เวียดนาม ไทย ลาว พม่า ไปถึงอินเดีย, ผู้เขียนหนังสือ “ชนชาติรากเหง้าเดียวกัน” และ มีผลงานเขียนหนังสือเล่ม และงานแปลอื่นๆกว่า 20 เล่ม บทความกว่า 103 เรื่อง เผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
       
       สำหรับวิทยากรอีกท่าน คือ คุณทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นักเขียนเรื่องจีน นามปากกา “โชติช่วง นาดอน” ผู้มีผลงานเรื่องจีนมากมาย ในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญา และงานค้นคว้าที่กำลังคลุกคลีอยู่ขณะนี้คือ งานค้นคว้าด้านชาติพันธุ์ไท-จ้วง

กวางสีเป็นดินแดนของชาวจ้วง 17 ล้านคน จัดเป็นชนชาติส่วนน้อยที่ใหญ่สุดของประเทศจีน พูดภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาไทย จากการศึกษาเกือบ 100 ปีที่ผ่านมาการวิจัยด้านภาษาชาติพันธุ์วิทยา ประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยาทางกายภาพ มนุษยวิทยาทางโมเลกุล ทำให้เกิดทฤษฎีความสัมพันธ์เชิงสายเลือดและแหล่งกำเนิดเดียวกัน ระหว่างชาวจ้วงในประเทศจีน ชาวไทย และชาวลาว กระทั่งวงการวิชาการปัจจุบันได้ยอมรับทฤษฎีนี้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น
       
       อาจารย์ ฟ่าน หงกุ้ย ได้เล่าถึงการศึกษาวิจัยที่ท่านดำเนินมาเป็นเวลานาน 30 ปี เพื่อสืบค้นหลักฐานยืนยันความเป็นพี่น้องทางสายเลือดระหว่างชาวจ้วงและชาวไทย โดยได้ใช้วิธีการใหม่ในการวิจัย ได้แก่ การศึกษารากศัพท์ การเปรียบเทียบคำศัพท์ในภาษาไทย และภาษาจ้วง ซึ่งก็พบว่า มีคำศัพท์ที่ออกเสียงคล้าย หรือกระทั่งเหมือนกันจำนวนหนึ่ง อาทิ คำว่า “ข้าว” (ภ.ไทย) และ “เข่า” (ภ.จ้วง), คำว่า “ถ้วย” (ภ.ไทย) และ “ถุ่ย” (ภ.จ้วง)
       
       อาจารย์ฟ่าน ยังได้ศึกษาคำศัพท์ในเชิงเวลา พบว่าคำศัพท์เหล่านี้ มีการใช้ในช่วงที่ชาวไทย และชาวจ้วง อาศัยอยู่ด้วยกัน และที่สำคัญคือคำศัพท์เหล่านี้ ไม่ใช่คำยืม เป็นคำที่สืบทอดจากบรรพบุรุษโดยตรง ทั้งนี้สันนิษฐานกันว่า ชาวไทย และจ้วง อาศัยอยู่ด้วยกัน ช่วง 800 ปี ก่อนคริสต์ศักราช และได้แยกย้ายกระจายไปตามถิ่นต่างๆในราวศตวรรษที่ 6
       
       นอกจากนี้ กลุ่มคำศัพท์ด้านเกษตรกรรมของไทย และจ้วง มีความคล้ายกันเป็นจำนวนมาก เช่น คันนา (ภ.ไทย) และ คั่น (ภ.จ้วง), กล้า(ภ.ไทย) และ เกี้ย (ภ.จ้วง), ฟืน (ภ.ไทย) และ ฟ่าน (ภ.จ้วง), ควาย (ภ.ไทย) และ วาย (ภ.จ้วง), แอก (ภ.ไทย) และ แอ๊ค (ภ.จ้วง) และคำว่า ดำนา ทั้งไทย และจ้วง ออกเสียงเหมือนกัน
       
       กลุ่มรากศัพท์เหล่านี้ มีการใช้ในช่วง 600 ปี ก่อนคริสต์ศักราช
       
       นอกจากนี้ หลักฐานด้านคำศัพท์แล้ว เสียงอ่านของตัวเลข หนึ่ง ถึง สิบ ในภาษาไทย และภาษาจ้วง คล้ายแบบแทบเหมือนกันเลย

 นอกไปจากหลักฐานเชิงภาษาแล้ว ยังมีหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อมโยงทางสายเลือดระหว่างไทย และจ้วง ที่น่าสนใจมากคือ โครงสร้างกระดูกของคนจ้วง และไทย มีความคล้ายคลึงกันมาก
       
       สำหรับหลักฐานอื่นๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญได้รวบรวมสำหรับยืนยัน “รากเหง้าเดียวกัน ของจ้วง และไทย” มีดังนี้
       
       - ประเพณีความเชื่อ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์จันทรุปราคา (จันทรคาส) ชนชาติจ้วงและไทย ได้ถ่ายทอดผ่านนิทานพื้นบ้านเรื่อง “กบกินเดือน” เหมือนกัน
       
       - การใช้กลองสำริดในงานพิธี ไทยและจ้วงมีประเพณีการใช้กลองสำริด หรือกลองมโหระทึกในงานพิธีต่างๆเหมือนกัน ความเชื่อการตีกลองที่มีความหมายแฝง แสดงถึงอำนาจ และมีเพียงชนชั้นกษัตริย์ที่มีอำนาจและสิทธิครอบครองกลองสำริด
       
       - ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เป็นประเพณีการอวยพรของชนชาติจ้วง แต่เดิมนั้นคนทั่วไปมักเข้าใจว่าชาวจ้วงรับประเพณีบายศรีสู่ขวัญมากจากพราหมณ์ แต่ไม่ใช่ เพราะชาวจ้วงไม่ได้นับถือพราหมณ์ ปัจจุบัชาวจ้วงยังรักษาประเพณีการผูกข้อมือ บายศรีสู่ขวัญนี้ไว้อยู่
       
       - นิทานพื้นบ้าน ชนชาติจ้วงและไทย มีนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องที่เหมือนกัน นอกจาก “กบกินเดือน” ที่แสดงดวามเชื่อเรื่องจันทรุปราคาแล้ว สองชนชาติยังมีเรื่องข้าวมาจากไหน? เหมือนกัน คือ “หมาเก้าหาง” ที่ชาวจ้วงเรียก “หม่าเก่าฮ้าง” นอกจากนี้ เรื่อง “ปลาบู่ทอง” ที่ทั้งไทย และจ้วง มีเหมือนกันนั้น ยังจัดเป็นนิทานแนว “ซิลเดอเรลล่า” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นต้น

- การกินไข่มดแดง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินเฉพาะถิ่น ชนชาติที่กินไข่มดแดง มีอยู่เพียง ไทย ลาว และจ้วง ในราชวงศ์ถัง และราชวงศ์หมิงของจีน มีบันทึกเกี่ยวกับการกินไข่มดแดงของชนชาติจ้วง แต่ในราชวงศ์ชิง กลับไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับการกินไข่มดแดงของจ้วง ปัจจุบัน มีเพียงไทย และลาว ที่ยังกินไข่มดแดง
       
       - ชนชาติจ้วงยังมีการเล่นแคน แต่ต่อมาได้สูญหายไป คงมีการเล่นแคนในหมู่ชาวไทย และชาวลาว
       
       การวิจัยดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่ง ยอมรับว่าจ้วงและไทย มีบรรพบุรุษร่วมกันตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม มีสายเลือดเดียวกัน มีการสืบทอดลงมา
       
       อย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่างจ้วง และไทยในปัจจุบัน สามารถสื่อสารกันเพียงระดับพื้นๆเท่านั้น แต่การสื่อสารในระดับลึกนั้นเป็นไปไม่ได้
       
       แล้วทำไม ชาวจ้วงและไทยในยุคหลัง จึงสื่อสารกันไม่ได้นั้น เนื่องจากจ้วงได้รับอิทธิพลภาษาจีนฮั่นเข้ามามาก ส่วนไทย ก็รับเอาภาษาบาลี สันสกฤต เข้ามามากเช่นกัน

โดย สุรัตน์ ปรีชาธรรม 15 มกราคม 2553 16:29 น.
ผู้จัดการ Online


บันทึกการเข้า

เพราะหัวใจ(เรียกร้อง ... เราจึงออก)เดินทาง
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.025 วินาที กับ 20 คำสั่ง