ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
เมษายน 20, 2024, 02:27:55 PM
ศิลปวัฒนธรรม [ ปี 1-5 ]

+  TRIP & TREK โลกกว้างของคนเดินทาง
|-+  กระดานข่าวสีเขียว
| |-+  ศิลปวัฒนธรรม (ผู้ดูแล: tooom, bamboo)
| | |-+  15 ม.ค.เตรียมชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: 15 ม.ค.เตรียมชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย  (อ่าน 3740 ครั้ง)
15 ม.ค.เตรียมชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
« เมื่อ: มกราคม 14, 2010, 10:26:43 PM »

15 ม.ค.เตรียมชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย



ภาพสุริยุปราคาในแบบวงแหวน (ซ้าย) และ แบบบางส่วน (ขวา) ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ม.ค. โดยไทยจะเห็นเป็นปรากฏการณ์บางส่วน (สดร.)

สุริยุปราคาบางส่วนในบ่ายวันที่ 15 ม.ค. เป็นสุริยคราสทิ้งทวน ก่อนจะพักไปอีก 2 ปี จึงจะกลับมาให้คนไทยเห็นอีกครั้งบนแผ่นดินขวานทอง แต่เนื่องจากเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ดังนั้นตลอดปรากฏการณ์จึงไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
       
       สุริยุปราคาบางส่วนในวันพรุ่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของจองสุริยุปราคาวงแหวนที่เห็นได้ในจีนและพม่า โดยในเมืองไทยจะเกิดระหว่าง 14.00-17.00 น. ซึ่งจังหวัดภาคเหนือจะเห็นการบดบังในสัดส่วนมากกว่าจังหวัดในภาคใต้ เช่น จ.แม่ฮ่องสอนเห็นการบดบังมากถึง 77% ส่วนกรุงเทพฯ เห็นการบดบังได้ 57.3% ขณะที่ภาคใต้เห็นการบดบังน้อยสุด จ.นราธิวาสเห็นการบดบังเพียง 36%
       
       ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สุริยุปราคาวงแหวนเป็นสิ่งปกติของสุริยุปราคาที่เกิดในเดือน ม.ค. เนื่องจากเป็นเดือนที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ดังนั้นจึงเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ยาก ครั้งนี้ไทยอยู่ใกล้แนวคราสวงแหวน จึงเห็นสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งแต่ละภาคจะเห็นการบดบังไม่เท่ากัน แต่ตลอดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนและสุริยุปราคาบางส่วน ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
       
       ทั้งนี้มีหลายหน่วยงานที่จัดงานเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้ อาทิ งาน “มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553” ณ สนามหน้าอนุสาวรีย์ 2 รัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดงานขึ้นตั้งแต่ 14.00 น. หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จะจัดกิจกรรมที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับดูดวงอาทิตย์ เช่น กล้องโทรทรรศน์ชนิดต่างๆ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ กล้องรูเข็ม ฯลฯ และจัดนิทรรศการและกิจกรรมทางดาราศาสตร์ด้วย และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมจัดงานอีก ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย หอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ดี สดร.ได้เตือนว่าไม่ควรสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาด้วยตาเปล่า รวมถึงไม่ควรมองผ่านกล้องถ่ายรูปหรือกล้องส่องทางไกลที่ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์กรองแสง เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้ มีคุณสมบัติในการรวมแสง อีกทั้งการมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าหรือผ่านเลนส์ที่ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์กรองแสง อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ฃ
       
       สำหรับวิธีดูดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาอย่างปลอดภัยนั้น ควรใช้อุปกรณ์ช่วย ซึ่งสามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ อุปกรณ์ที่ใช้สังเกตทางตรง ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์ แว่นดูดวงอาทิตย์ หรือแผ่นกรองแสงชนิดพิเศษ (Mylar Filter, Black Polymer) แผ่นดีวีดี ที่ไม่มีลวดลาย กระจกช่างเชื่อมเบอร์ 14 แต่ถึงแม้จะมีอุปกรณ์ช่วยสังเกตอย่างปลอดภัยแล้ว ก็ไม่ควรมองดวงอาทิตย์นานเกินครั้งละ 5 วินาที ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สังเกตทางอ้อม ได้แก่ การฉายภาพดวงอาทิตย์บนฉากรับภาพจากกล้องโทรทรรศน์ การดูผ่านกล้องรูเข็ม การสังเกตเงาใต้ร่มไม้
       
       ส่วนผู้ที่ต้องการถ่ายภาพ “สุริยุปราคา” ทำได้โดยถ่ายภาพผ่านแผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) เพื่อลดความเข้มของแสงจากดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังช่วยป้องกันสายตาไว้มิให้เป็นอันตรายจากแสงอันแรงกล้าของดวงอาทิตย์ และอย่าใช้กล้องส่องไปยังดวงอาทิตย์โดยตรงอย่างเด็ดขาด
       
       หลังปรากฏการณ์สุริยุปราคาในที่ 15 ม.ค.53 นี้ คนไทยต้องรออีก 2 ปีจึงจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาอีกครั้งในประเทศไทย คือปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนวันที่ 20 พ.ค.2555 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุริยุปราคาวงแหวนที่คราสพาดผ่านญี่ปุ่น และในวันที่ 8 มี.ค.59 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่คราสพาดผ่านเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา และไทยจะเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในส่วนของภาคใต้วันที่ 21 พ.ค.74 ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงในเมืองไทยจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 เม.ย.2613
       
       * อย่ามองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เพราะดวงตาจะได้รับอันตรายถึงขั้นตาบอดได้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 มกราคม 2553 14:55 น.


บันทึกการเข้า

เพราะหัวใจ(เรียกร้อง ... เราจึงออก)เดินทาง
Re: 15 ม.ค.เตรียมชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 14, 2010, 10:29:37 PM »

สุริยุปราคาอีก 5 ครั้งถัดไปบนโลกนี้

หลังจากสุริยุปราคาแห่งศตวรรษเมื่อวันที่ 22 ก.ค.52 ซึ่งเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงอันยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และเพิ่งผ่านพ้นนั้น ยังคงมีเงาจันทร์ที่จะพาดผ่านโลกต่อไป เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วเกิดสุริยุปราคาบนโลกทุกปี เพียงแค่ว่าสุริยุปราคาเหล่านั้นจะเห็นได้ในเมืองไทยหรือไม่เท่านั้น
       
       ต่อไปนี้คือ สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นอีก 5 ครั้งถัดไป ที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้คัดเลือกข้อมูลอุปราคาขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) มานำเสนอ
       
       - 15 ม.ค.53 เกิดสุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ประเทศที่เห็นปรากฏการณ์นี้ ได้แก่ แอฟริกากลาง อินเดีย พม่าและ จีน ส่วนไทยอยู่ในแนวเงามัวจึงเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน
       
       - 11 ก.ค.53 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศที่เห็นเหตุการณ์นี้ ได้แก่ ชิลีและอาร์เจนตินา โดยเงาดวงจันทร์ยังพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้และหมู่เกาะอีสเตอร์ด้วย ส่วนไทยไม่อยู่ในแนวคราสจึงไม่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว
       
       -  4 ม.ค.54 เกิดสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) ซึ่งจะครอบคลุมทวีปยุโรปเกือบทั้ง ครึ่งของทวีปแอฟริกาและเอเชียกลาง ส่วนไทยไม่อยู่ในแนวคราส
       
       - 1 มิ.ย.54 เกิดสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) ในเอเชียตะวันออก ตอนเหนือของอเมริกาและไอซ์แลนด์ ส่วนไทยไม่อยู่ในแนวคราส
       
       - 1 ก.ค.54 เกิดสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) ในมหาสมุทรอินเดียทางตอนใต้ ไม่มีเงาทอดผ่านแผ่นทวีปใดๆ
       
       ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงนั้น จะเกิดขึ้นในเมืองไทยอีกครั้ง วันที่ 11 เม.ย.2613 ซึ่งตามข้อมูลขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า เป็นสุริยุปราคาในชุดซารอส (Saros) ที่ 130 โดยคราสเต็มดวงจะพาดผ่านศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เวียดนามและฟิลิปปินส์ สำหรับไทยนั้นเงามืดจะพาดผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์


แผนภาพแสดงการเคลื่อนที่ของคราสสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งพาดผ่าน จ.ประจวบของไทย และจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 เม.ย.2613 (นาซา)
บันทึกการเข้า

เพราะหัวใจ(เรียกร้อง ... เราจึงออก)เดินทาง
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
 
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.025 วินาที กับ 19 คำสั่ง