:: ข้อมูลการเดินทาง :: ศึกษาข้อมูลไว้รับรองไปไหนไม่มีผิดหวัง ::
กลับหน้าแรก | ตั้งคำถามใหม่ | ส่งหน้านี้ให้เพื่อน
ค้นหาคำถาม
:: Trip & Trek.com :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
เชิญตั้งคำถามของคุณได้ที่นี่ครับ

แพร่ [ข้อมูลทั่วไป]

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 551 กิโลเมตร มีพื้นที่ 6,538.598 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ทิศ มีที่ราบในหุบเขาอยู่ตอนกลางจังหวัด
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน และจังหวัดพะเยา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดลำปาง


ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

สูงเม่น11 กิโลเมตร
หนองม่วงไข่20 กิโลเมตร
เด่นชัย24 กิโลเมตร
ร้องกวาง29 กิโลเมตร
ลอง 40 กิโลเมตร
สอง 48 กิโลเมตร
วังชิ้น80 กิโลเมตร

โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:08:27] Bookmark and Share



โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:15:14] #2 (1/7)

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอเมือง

ตัวเมืองแพร่นั้นมีขนาดเล็กทำให้วัดวาอารามและแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งไม่ห่างไกลกันมากนัก ถนนสายใหญ่มีไม่มากนัก ฉะนั้นผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานไม่ควรพลาดที่จะมาท่องเที่ยวเมืองนี้

วัดหลวง
ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ ซอย 1 ตำบลในเวียง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ หรือกล่าวอีกอย่างว่าเป็นวัดแรกของจังหวัดแพร่ วัดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายยุคหลายสมัย สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ วิหารหลวงพลนคร วิหารเก่าแก่สร้างพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ ภายในประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวง พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสนประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ เป็นสถานที่รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่มีอายุเกือบ 500 ปี และโบราณวัตถุต่าง ๆ ของเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังมี คุ้มพระลอ ซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณ หอวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ สร้างด้วยไม้สักทอง อายุ 200 ปี เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมาย

วัดพระนอน
อยู่ใกล้วัดหลวงบนถนนพระนอนเหนือ มีพระอุโบสถแบบเชียงแสนคือไม่มีหน้าต่างแต่ทำเป็นช่องรับแสงแทน ส่วนหน้าบันแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายก้านขด มีภาพรามเกียรติ์ประกอบ ส่วนวิหารตกแต่งชายคาด้วยไม้ฉลุโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นยาว 9 เมตร ลงรักปิดทองตลอดองค์

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
ตั้งอยู่ริมถนนเจริญเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2498 โดยรวมวัดโบราณ 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือ วัดพระบาท และวัดมิ่งเมือง ปัจจุบันวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด พระเจดีย์มิ่งเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ และ รอยพระพุทธบาทจำลอง


บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น)
ตั้งอยู่เลขที่ 59 หมู่ 13 ตำบลป่าแมต ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 (แพร่-ลอง) สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2519 ใช้เวลาสร้างทั้งหมด 5 ปี เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง ใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ เนื้อที่ของตัวบ้าน 1 ไร่เศษ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย 15 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท นอกจากนี้ผู้เข้าชมสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ โทร. 0 5451 1008, 0 5451 1282

บ้านวงศ์บุรี
ตั้งอยู่ที่ 50 ถนนคำลือ (ถนนหลังจวนผู้ว่า สี่แยกพระนอนเหนือ) ใกล้กับวัดพงศ์ สุนัน สร้างในปี 2450 โดยเจ้าพรหม(พลวงพงษ์พิบูลย์) และ เจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ธิดาเจ้าบุรี (พระยาบุรีรัตน์) ช่างที่สร้างบ้านหลังนี้มาจากเมืองกวางตุ้งประเทศจีน และใช้ช่างไม้พื้นถิ่น เป็นบ้านไม้สักสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ ฐานเป็นอิฐและซีเมนต์สูงจากพื้น 1 เมตร หลังคาสองชั้นมีช่องระบายลมระหว่างชั้นทั้งสอง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเนื่องจากบ้านหันหน้าเข้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อให้มีลมพัดเย็นในช่วงฤดูร้อน และมีเพดานสูง หลังคาสูง ทรงปั้นหยา 2 ชั้น จุดเด่นของอาคารนี้คือลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู ที่ประตูด้านหน้าเป็นปูนปั้นรูปแพะซึ่งเป็นตัวแทนของหลวงพงษ์พิบูลย์และแม่เจ้าสุนันทาซึ่งเกิดในปีแพะ ต่อมาได้มีการซ่อมแซม แต่ลวดลายแกะสลักยังคงเป็นของเดิม หลังคาไม้สักของเดิมยังคงอยู่แต่ถูกนำออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2518 เพราะความเก่าแก่ และถูกแทนที่ด้วยเหล็ก (corrugated iron) ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส บ้านวงศ์บุรีได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2536
ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง และตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ นอกจากนี้บ้านวงศ์บุรีได้จัดกิจกรรมเสริม คือการจัดขันโตกสำหรับชาวไทยและต่างประเทศที่มาเป็นคณะ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30?17.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย ราคา 15 บาท ชาวต่างประเทศ ราคา 20 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5462 0153


วัดสระบ่อแก้ว
ตั้งอยู่ที่ถนนน้ำริมคูเมือง สร้างขึ้นสมัยเดียวกับวัดจอมสวรรค์ เดิมชื่อ วัดจองกลาง เป็นศิลปะแบบพม่าที่สวยงามแปลกตา ทั้งศาลาการเปรียญ โบสถ์ และเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินอ่อนทรงเครื่องแบบพม่า สร้างอย่างสวยงามวิจิตรพิสดารมาก วัดแห่งนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์พม่าที่เดินทางเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศไทย

วัดจอมสวรรค์
ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นประดับประดาลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในอารามแสดงให้เห็นฝีมือการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เพดาน และเสาฉลุไม้ประดับกระจกสีงดงาม โบราณวัตถุภายในวัด ได้แก่ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้าง หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบาง ๆ เขียนลงรักแดง จารึกเป็นอักษรพม่า และยังมี บุษบก ลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน วัดจอมสวรรค์นี้สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2437 โดยชาวเงี้ยว ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในพม่า และเดินทางมาค้าขายที่เมืองแพร่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ วัดจึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ต่อมาได้รับการบูรณะจากชาวไทยใหญ่


วนอุทยานแพะเมืองผี
ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำชำ ใช้เส้นทางหลวงสายแพร่-น่าน ทางหลวงหมายเลข 101 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1134 ตรง กม. 9 เข้าไปอีก 6 กิโลเมตร แพะเมืองผีอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เกิดจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นดิน และหินทรายถูกกัดเซาะตามธรรมชาติเป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ เช่น ดอกเห็ด หน้าผา ดูแล้วแปลกตา ชื่อ แพะเมืองผี น่าจะมาจากภาษาพื้นเมือง แพะ แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า เมืองผี แปลว่า เงียบเหงา วังเวงอาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัว สถานที่แห่งนี้ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524

วัดพระธาตุช่อแฮ
อยู่ที่ตำบลช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ 9 กิโลเมตร (เส้นทางหลวงหมายเลข 1022) เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) โดยขุนลัวะอ้ายก๊อม พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี

วัดพระธาตุจอมแจ้ง
อยู่ในท้องที่ตำบลช่อแฮ เลยพระธาตุช่อแฮไป 1 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดราว 10 กิโลเมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 1331 ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง องค์พระธาตุจอมแจ้งสีทอง สูง 29 เมตร ฐานกว้าง 10 เมตร ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธองค์เสด็จถึงสถานที่นี้จวนสว่างพอดี จึงเรียกว่าพระธาตุจวนแจ้ง ต่อมาเพี้ยนเป็นจอมแจ้ง เชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า บริเวณพระธาตุผู้หญิงห้ามเข้า ที่นี่มีศาลาเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ตำบลป่าแดง หรือพิพิธภัณฑ์ของจังหวัด รวบรวมสิ่งของโบราณที่หาดูได้ยาก


อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 101 พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่ รับราชการระหว่าง พ.ศ. 2440-2445 ในปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวในเมืองแพร่ก่อการกบฏ ท่านถูกพวกเงี้ยวฆ่าตาย เนื่องจากไม่ยอมลงนามยกเมืองแพร่ให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทหารมาปราบพวกเงี้ยว และเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้พระยาไชยบูรณ์เป็นพระยาราชฤทธานนท์พหลพลภักดี

ศูนย์วิจัยพืชสวนแพร่
ตั้งอยู่ที่ ต.วังหงษ์ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติห้วยเบี้ย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดแพร่ไปทางทิศเหนือ ตามคันคลองส่งน้ำชลประทานฝั่งขวาประมาณ 20 กิโลเมตร เริ่มก่อตั้งเป็นโครงการสถานีทดลองพืชสวนแพร่ ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแปลงทดสอบและคัดเลือกไม้ผลพันธุ์ดี รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการทำสวนผลไม้ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ แก่เกษตรกรในเขตภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยศึกษาการขยายพันธุ์ส้มปลอดโรค ศึกษาการปลูกส้มเขียวหวานบนต้นตอต่างชนิดในดินชุดต่างๆ คัดเลือกสายต้นลางสาดจากสวนเกษตรกรในเขตภาคเหนือ และงานวิจัยอื่นๆอีกหลายชิ้น
กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้แก่ นั่งล้อวัวเทียมเกวียนชมรอบบริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนแพร่ และร่วมกิจกรรมเก็บผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล (ผลไม้/ไม้ดอก) นักท่องเที่ยวที่สนใจควรติดต่อล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนแพร่ 205 ม.4 ต.วังหงษ์ โทร. 0 5452 1387 ศูนย์วิจัยพืชสวนแพร่ เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันและเวลาราชการ


บ้านนาตอง
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 9 ต.ช่อแฮ ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 20 กิโลเมตร แต่สภาพทางค่อนข้างลำบากในหน้าฝนต้องใช้รถกระบะแรงดีๆเท่านั้น บ้านนาตองมีประชากร ประมาณ 100 หลังคาเรือน มีการจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ (Home Stay) ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปกติทำนาช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ในช่วงนอกฤดูทำนาที่นี่จะปลูกถั่วลิสงโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และยังเก็บใบเมี่ยงซึ่งสามารถเก็บยอดได้ทุก 2 เดือน นอกจากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแตกต่างจากคนเมืองแล้ว ที่บ้านนาตองยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เต่าปูลู ซึ่งเป็นเต่าหางยาว มีถิ่นกำเนิดบริเวณรอยต่อ 3 ประเทศ คือ ภาคเหนือของประเทศไทย ภาคตะวันออกของประเทศพม่า และทางตอนใต้ของจีน ปัจจุบันเต่าปูลูอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ จะอาศัยอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดเท่านั้นและมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยกินปู กุ้ง และหอยเป็นอาหารหลัก พื้นที่บ้านนาตองนั้นเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำน่าน และใกล้ๆหมู่บ้านจะมีถ้ำนาตอง และน้ำตกผาบ่องที่สามารถเข้าไปเที่ยวได้
ผู้ที่ต้องการมาศึกษาชีวิตที่เรียบง่ายที่นี่ ติดต่อได้ที่ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านนาตอง 0 5452 9060-1 โดยเสียค่าใช้จ่าย 390 บาท ต่อหัว ไม่รวมค่าเดินทาง ใช้เวลาพัก 1 วัน 1 คืน





โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:18:49] #3 (2/7)

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอสูงเม่น

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน (บ้านฝ้าย)
ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแพร่-สูงเม่น ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ในบริเวณเดียวกับสวนอาหารบ้านฝ้าย ถนนยันตรกิจโกศล เป็นสถานที่จำลองชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบอาคารบ้านเรือน และของใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง เมื่อราว 100 กว่าปีมาแล้ว เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันแรงงาน ตั้งแต่เวลา 09.00?22.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5452 3114

วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง
อยู่ที่ตำบลดอนมูล เลี้ยวซ้ายที่บ้านหัวดงเข้าไป 700 เมตร มีเจดีย์เก่าศิลปะสุโขทัย ชาวบ้านเรียกว่า ?ธาตุเนิ้ง? มีความหมายว่า เอียง เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง




โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:20:22] #4 (3/7)


สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอเด่นชัย

วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี
ตั้งอยู่ที่ ม.9 ต.เด่นชัย ห่างจากอำเภอเด่นชัย 3 กิโลเมตร สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ พิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ สร้างด้วยไม้สักทอง เป็นไม้จากบ้านเรือนเก่าทั้งหมด 14 หลัง เป็นรูปทรงล้านนา ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุมีค่าของหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้มากมาย เช่นพระพุทธรูปต่าง ๆ เครื่องเขิน เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือ และภาพเหตุการณ์ในอดีตต่าง ๆ




โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:21:28] #5 (4/7)

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอลอง

อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง
ดูรายละเอียดที่
http://tripandtrek.com/databoard/show.php?Category=&No=5>


วัดพระธาตุศรีดอนคำ
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ?วัดห้วยอ้อ? อยู่เลยที่ว่าการอำเภอลองไปเล็กน้อย ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 เป็นพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1078 คราวพระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย พระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันมีฐานเป็นปูน ส่วนบนประดับด้วยแผ่นโลหะสีทอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูป และมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า ที่ทำจากไม้เรียกว่า ?พระเจ้าพร้าโต้? ตลอดจนคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งเก็บไว้ในหอไตรของวัด

หมู่บ้านทอผ้าตีนจก
อยู่ระหว่างเส้นทางอำเภอลอง ทางหลวงหมายเลข 1023 ผ้าตีนจกของอำเภอลองเป็นงานฝีมือที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีความประณีตสวยงาม ทอด้วยผ้าไหม และผ้าฝ้าย โดยเน้นสีดำแดงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านนาตุ้ม บ้านหัวทุ่ง บ้านนามน บ้านแม่แขม

สวนป่าผาลายคำ
อยู่ใกล้กับหน่วยจัดการป่าไม้แม่ต้าในเส้นทางหลวง 1023 เลี้ยวขวาเข้าที่บ้านเกี๋ยงผา อีกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสวนป่าที่มีทัศนียภาพสวยงามด้วยป่าไม้ ถ้ำ ขุนเขา และสวนสมุนไพรมากมาย โดยเฉพาะจัดให้มีกิจกรรมนั่งช้างเพื่อชมธรรมชาติโดยรอบอีกด้วย


โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:22:16] #6 (5/7)


สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอวังชิ้น

อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย
ดูรายละเอียดที่
http://tripandtrek.com/databoard/show.php?Category=&No=9>




โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:22:53] #7 (6/7)

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอร้องกวาง

ถ้ำผานางคอย
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแพร่-ร้องกวาง (ทางหลวงหมายเลข 101) ถึงกิโลเมตรที่ 58-59 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 800 เมตร ถึงหน้าถ้ำผานางคอย ตัวถ้ำอยู่บนหน้าผาสูง 50 เมตร เป็นอุโมงค์ลึกยาว 150 เมตร กว้าง 10
เมตร ลักษณะของถ้ำโค้งงอเป็นข้อศอกไปทางซ้าย และทางขวาเป็น 3 ตอนด้วยกัน ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยลักษณะต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเกล็ดหินประกายระยิบระยับ หรือเป็นชะง่อนหินยาวถึงพื้นถ้ำ สุดทางของถ้ำมีก้อนหินรูปร่างคล้ายหญิงสาวนั่งอุ้มลูกน้อยรอคอยคนรัก ชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า ?หินนางคอย? ตามตำนานพื้นบ้านของถ้ำแห่งนี้ เบื้องหน้าของหินนางคอยมีหินย้อย ลักษณะคล้ายรูปหัวใจดูแปลกตาสวยงาม นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของชาวแพร่

น้ำตกห้วยโรง
หรือ น้ำตกห้วยลง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางเหนือ 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 ถนนสายแพร่-น่าน แล้วมีป้ายทางซ้ายมือเลี้ยวแยกเข้าสู่บ้านห้วยโรงซึ่งมีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงอย่างสะดวก เป็นน้ำตก 2 ชั้น สภาพโดยรอบเป็นป่าโปร่งร่มรื่น





โดยคุณ Mapper [2004-07-08 18:23:35] #8 (7/7)


สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอสอง

พระธาตุพระลอ
อยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1154 กม.ที่ 54 ห่างจากอำเภอสองประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นพระธาตุเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงความรักอมตะของพระลอแห่งนครแมนสรวง และพระเพื่อน-พระแพงแห่งเมืองสรอง เป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอซึ่งจัดว่าเก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
การเดินทาง
ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 101 ประมาณ 24 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 อีกราว 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอสองใช้เส้นทางหมายเลข 1154 จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตรถึงพระธาตุพระลอ

อุทยานลิลิตพระลอ
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ในเส้นทางไปพระธาตุพระลอ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองสรองมาก่อนเพราะยังปรากฏเนินดินเป็นแนวกำแพงให้เห็น มีแม่น้ำกาหลงไหลผ่าน ปัจจุบันแม่น้ำนี้ได้ตื้นเขินไปแล้วจนเกือบไม่เหลือสภาพเดิม

พิพิธภัณฑ์เงินตราสยามเวียงสรอง
อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 103 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 14 ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 39 กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ของครอบครัว อุปวรรณ ที่เก็บรวบรวมเงินตรา และเหรียญกษาปณ์ต่าง ๆ ที่หายากของไทยตลอดจนเงินสกุลอื่น ๆ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบันไว้มากมาย นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเครื่องใช้วัตถุโบราณ เช่น ถ้วยชามสังคโลก และเอกสารต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30?17.30 น. อัตราค่าเข้าชม คนละ 20 บาท หากเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5463 4237, 0 5463 4395

อุทยานแห่งชาติแม่ยม
ดูรายละเอียดที่
http://tripandtrek.com/databoard/show.php?Category=&No=11>


ขอเชิญร่วมตอบคำถามครับ
ความคิดเห็น
โดย
Email
ย่อหน้า ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา

คลิกที่รูป เพื่อแทรกรูปลงในข้อความ
เลือกรูป ขนาดห้ามเกิน 50 K.

[ สมัครสมาชิก | ปิดหน้าต่างนี้ ]