ประเพณีตักบาตรดอกไม้จังหวัดสระบุรี
ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของการตักบาตรนั้น มีแจ้งในพุทธตำนานว่านายมาลาการผู้ทำหน้าที่ ดอกมะลิสดไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งเมืองราชคฤห์เป็นประจำทุกวัน
มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน องค์สมเด็จพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์กำลังเสด็จออกบิณฑบาตผ่านมา นายมาลาการ
เห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์ จึงนำดอกมะลิ ๘ กำมือ ไปถวายแด่พระพุทธองค์ พระเจ้าพิมพิสารราชาทรงทราบข่าวว่า พระศาสดาเสด็จ
ออกบิณฑบาตรมาถึงใกล้ๆ พระราชวัง จนนายมาลาการได้พบปะและถวายดอกมะลิ
บูชา พระราชาจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคม ต่อพระศาสดา แล้วเสด็จตาม
พระศาสดาไป ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา พระเจ้าพิมพิสารเลยบำเหน็จรางวัลความดี
ความชอบและพระราชทานสิ่งของทั้งปวงให้กับนายมาลาการ นับแต่นั้นมานายมาลา-
การก็อยู่อย่างร่มเย็นปราศจากทุกข์ใดทั้งปวง ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชา
แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตร
จากอานิสงส์ดังกล่าวแต่ครั้งพุทธกาลชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็น ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" เป็นประจำทุกปี ตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

กำหนดงาน
ประเพณีตักบาตรดอกไม้กระทำในวันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี

หลังจากรับบิณฑบาตดอกไม้แล้วพระสงฆ์
จะนำเอาดอกไม้ขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาท

พิธี
ชาวอำเภอพระพุทธบาท จ. สระบุรี มีประเพณีตักบาตรดอกไม้มาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยตอนเช้า คนแก่คนเฒ่าตลอดจนหนุ่มสาวพากันไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตร
ข้าวสุกแด่พระภิกษุสงฆ์ ที่วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร เสร็จจากการทำบุญตักบาตรแล้วบรรดาหนุ่มสาวพากันออกจากบ้านขึ้นเขาไปเก็บดอกไม้
ที่จะบานเฉพาะช่วงเข้าพรรษา จนได้ชื่อเรียกขานว่า "ดอกเข้าพรรษา "
เพื่อเตรียมไว้สำหรับตักบาตรดอกไม้ในตอนบ่ายของวันเดียวกัน
ดอกเข้าพรรษานี้ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์อยู่ในสกุลกลอบบา (Globba) มีลักษณะคล้ายกับ ต้นกระชายหรือขมิ้น สูง ๑ คืบเศษๆ มักขึ้นตามท้องที่ป่าเขาที่มีความ
ชุ่มชื้นค่อนข้างสูง ลำต้นขึ้นเป็นกอจาก หัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อส่วนยอดของลำต้นมีหลายสี เช่น ขาว เหลือง เหลืองแซมม่วง และบางต้นก็มี
สีน้ำเงินม่วงมีดอกรองรับในช่อดอกดูเป็นช่อใหญ่สวยงาม โดยเฉพาะชนิดดอกเหลืองจะมี กลีบรองสีม่วงสะดุดตามาก ซึ่งจะหายากมากกว่าสีอื่น ชาวบ้านบางคน
จึงเรียกว่าดอกยูงทอง หรือ ดอกหงส์ทอง

เมื่อเก็บดอกไม้มาแล้วก็นำมามัดรวมกับธูปเทียน ชาวบ้านจะมาตั้งแถวรออยู่ริมถนนทั้ง ๒ ข้าง เริ่มตั้งแต่วงเวียนถนนสายคู่ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาท
เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล พระภิกษุสงฆ์จะออกบิณฑบาต โดยมีขบวนแห่กลองยาว พร้อมด้วยนางรำ
รำหน้ากลองยาวอย่างครึกครื้น ถัดจากขบวนกลองยาวเป็นพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนรถแห่ ตามด้วยขบวนพระสงฆ์เดินมาเพื่อบิณฑบาตดอกไม้ ไปเรื่อยๆ ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาท

ขบวนพระภิกษุสงฆ์เดินบิณฑบาตดอกไม้

ชาวบ้านจะตั้งแถวรอใส่บาตรดอกไม้อยู่สองข้างทาง

ต่อจากนั้นพระภิกษุสงฆ์ ก็จะนำเอาดอกไม้เข้าไปในมณฑปพระพุทธบาท เพื่อเป็นเครื่องสักการะวันทา "รอยพระพุทธบาท" จากนั้นนำเอาดอกไม้มาวันทาพระเจดีย์
"จุฬามณี" เจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก สุดท้ายจึงนำไปสักการะพระเจดีย์พระมหาธาตุองค์ใหญ่ซึ่งชาวพุทธถือกันว่าเป็น
เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกซี่โครง ของพระพุทธเจ้า) จากนั้นพระภิกษุสงฆ์และสามเณรทั้งหมดก็จะเดินตรงไปเข้าอุโบสถสวดอธิษฐานเข้าพรรษา เพื่อเปล่งวาจา ว่าจะอยู่ในอาณาเขตที่จำกัดในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา

ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์และสามเณรจะเข้าอุโบสถประชาชนนำน้ำสะอาดล้างเท้าแด่พระภิกษุสงฆ์บริเวณบันได ด้วยความเข้าใจว่าเป็นการชำระล้างบาป ของตนที่ได้กระทำให้หมดสิ้นไป




<..ดอกเข้าพรรษา
หลากสีที่ชาวบ้าน
นิยมเก็บมาตักบาตร
ดอกไม้

คำถวายดอกไม้
"อิมานิ มยํ ภนฺเต วรปุปผานิ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุโน ภนฺเต สงโฆ อิมานิ วรปุปผานิ ปฏคฺ คณฺหาตุ อมฺหาถํ ทีฆรตฺตํ หิตายสุขาย"

"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งดอกไม้อันประเสริฐทั้งหลาย เหล่านี้ แด่พระสงฆ์ จงรับซึ่งดอกไม้อันประเสริฐทั้งหลายเหล่านี้
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่ ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"
   


:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::